นายขำ นุชิตศิริภัทรา คือ ผู้บุกเบิกการใช้ ตาก้านใบ ในการติดตายางพันธุ์ดี เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ซึ่งไดเมีการบันทึกเรื่องราวไว้ในนิตนสารกสิกร ของกรมวิชาการเกษตร ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม 2518 โดยนายบัว พุกเจริญ รายละเอียดมีดังนี้-----------------------------------------------------
การติดตายาง โดยใช้ “ตาก้านใบ”
โดย บัว พุกเจริญ เกษตรจังหวัดตรัง
-----------------------------------------------------
ผู้เขียนพร้อมด้วยเกษตรอำเภอปะเหลียน
และเกษตรอำเภอกันตังได้มีโอกาสไปเยี่ยมแปลงเพาะขยายพันธุ์ยาง ของนายขำ
นุชิตศิริภัทรา ที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
นายขำเป็นผู้ที่มีความสนใจและหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องยางมาตั้งแต่
พ.ศ. 2499 ในขณะที่มีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น ปัจจุบันอายุเพียง 35 ปี จึงนับว่าเป็นคนหนุ่มคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถสร้างฐานะได้เป็นปึกแผ่นด้วยตนเอง
ในปี 2502
นายขำได้ไปเยี่ยมศูนย์วิจัยการยางหาดใหญ่ ได้พบเห็นวิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับยางพันธุ์ดีจึงมีความสนใจเรื่องยางพันธุ์ดีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาได้สร้างแปลงเพาะขยายพันธุ์ยางขึ้นในท้องที่อำเภอปะเหลียน โดยได้เอายางพันธุ์ดีจากศูนย์วิจัยฯ
มาปลูกทำเป็นแปลงขยายพันธุ์ศึกษาหาความรู้ไปด้วย จนมีความรู้ความชำนาญพอสมควร
ต่อมาในปี 2506 จึงได้ขอจดทะเบียนเป็นแปลงเพาะและขยายพันธุ์ยาง
ต่อกองการยาง กรมกสิกรรมผ่านกสิกรรมอำเภอปะเหลียน และกสิกรรมจังหวัดในสมัยนั้น เนื้อที่ที่ขอจดครั้งแรกมีอยู่
5 ไร่ โดยมียางพันธุ์ดี พันธุ์ อาร์อาร์ไอ เอ็ม 501, พันธุ์ พีบี 86,พันธุ์ พีอาร์ 107, พันธุ์ ทีเจไออาร์ 1 ประมาณ 4,000 ต้น ฯลฯ
ต่อมาได้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ พร้อมทั้งได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ในเรื่องยาง
ที่ทางราชการได้ค้นคว้าวิจัยผลออกมาสู่ชาวสวนยางอยู่เป็นประจำจนถึงปัจจุบัน นายขำมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องยางพันธุ์ดีและรวบรวมไว้ไม่ต่ำกว่า
25 พันธุ์ เนื้อที่ 35 ไร่ มียางพันธุ์ดีคัดแล้วสำหรับจะติดตาขยายพันธุ์อยู่ 5
พันธุ์ คือ พันธุ์ อาร์อาร์ไอเอ็ม 600, พันธุ์ อาร์อาร์ไอ เอ็ม 623, พันธุ์ พีบี 5/51,
พันธุ์ พีบี 28/59 และจีที 1 จำนวน 18,000 ต้น ซึ่งสามารถจะใช้ขยายพันธุ์
โดยการติดตาได้ประมาณ 2 ล้านตา มีต้นตอ (stock) ยางอยู่ในปี 2517 ประมาณ 844,000 ต้น
เมื่อคัดเลือกแล้วจะใช้ติดตาได้ประมาณ
5-6 แสนต้น ต้นยางที่ติดตาแล้วจะจำหน่ายให้องค์การสวนยาง นาบอน
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตลอดจนเจ้าของสวนยางทั่วไปในภาคใต้
ในราคาต้นละ 1.50 บาท ถ้าชำในถุงพลาสติกหรือกระบอกไม้ไผ่ขายต้นละ 5.00 บาท สำหรับกิ่งตายางพันธุ์ดีทุกพันธุ์ขายเมตรละ
2.00 บาท
นอกจากนี้ยังสร้างสวนยางพันธุ์ดีไว้เนื้อที่
200 ไร่ มีพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600, 703, พันธุ์ พีบี 5/60, พันธุ์ พีบี 28/59
และจีที 1
นับว่านายขำได้สร้างตัวเอง ในระยะ
17 ปี ได้อย่างน่าภูมิใจ สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก
ผู้เขียนได้แนะนำ ให้ท่านได้รู้จักกับนายขำมามากพอสมควร
ต่อไปจะได้พูดถึงการติดตา โดยใช้ตาก้านใบเสียที
กิ่งตาสำหรับใช้ในการติดตา หลังจากปลูกกิ่งตายางพันธุ์ดี
(ระยะปลูก 1เมตร x 1เมตร) ประมาณ 8-12 เดือน ก็ตัดออกให้เหลือสูงจากพื้นดิน
60 ซม. ต้นตอยางพันธุ์ดีที่ตัดแล้วจะแตกใหม่และคอยตัดออกให้เหลือไว้
4 กระโดง (กิ่ง) ปีที่ 2 หลังจากแต่งกระโดงแล้ว 120-180 วัน จะตัดถึงกระโดง ซึ่งมีฉัตรอยู่ประมาณ
1-4 ฉัตรๆ หนึ่งอายุเฉลี่ยประมาณ 45 วัน ปีต่อไปจะตัดกิ่งตาออกขายได้ 2-3 ครั้ง ๆ
ละ 4 กระโดงๆ หนึ่งมีตาอยู่ประมาณ 30-40 ตา และกระโดงหนึ่งจะมีความยาว 1.00-1.50 เมตร ๆ หนึ่งราคา 20 บาท ปีหนึ่งจะขายกิ่งตาได้ประมาณ
200 บาท ต่อต้น ถ้าปลูกไว้ 1 ไร่ 1,600
ต้น จะขายได้ 3,200 – 4,00 บาท การขายกิ่งตายางพันธุ์ดีจึงนับว่ามีรายได้พอสมควร
โดยปกติทั่ว ๆ ไปแล้วการขยายพันธุ์
โดยการติดตายางพันธุ์ดีจะใช้ติดตาสีน้ำตาลและการติดตาเขียวกึ่งสีน้ำตาล
การติดตาดังกล่าวมาแล้ว กิ่งตาท่อนหนึ่งยาว 1 เมตร ราคาขายเมตรละ 2 บาท
มีตายางประมาณ 25-30 ตา รวมทั้งตาก้านใบด้วย แต่สามารถนำตาไปใช้ได้จริง ๆ เพียง 6-10 ตาเท่านั้น จะต้องทั้งตาก้านใบซึ่งไม่สามารถนำมาติดได้ประมาณ
70% ทั้งนี้เพราะตาก้านใบติดยาก
จึงไม่นิยมใช้ในการติดตา
ต่อมาในปี 2514 นายขำได้มาคิดคำนึงดูว่า
ทำอย่างไรจึงจะนำตาก้านใบซึ่งทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ถึง 70% นั้น มาใช้ติดตาได้ (ตาก้านใบคือตาที่มีก้านใบติดอยู่ด้วยซึ่งมีอายุระหว่าง 45-180 วัน
หรือตั้งแต่ 1-4 ฉัตรๆ ฉัตรหนึ่งอายุ 45 วัน)
เมื่อคิดแล้วก็พยายามทดลองดู ปรากฏว่า
ตาที่ติดกับก้านใบนำมาติดตาแล้วได้เน่าเสียเป็นส่วนใหญ่
แต่นายขำก็ไม่ท้อถอยหรือละทิ้ง ได้พยายามทดลองทำอยู่เรื่อยๆ
จนถึงปี 2516 จึงได้พบว่า สาเหตุที่ทำให้ตาก้านใบเน่า
เพราะความสะอาดไม่พอ เนื่องจากเวลาลอกเปลือกตา มือไปถูกรอยตัดก้านใบ จึงทำให้ตาก้านใบเสียเป็นส่วนใหญ่
จึงลองติดตาก้านใบใหม่ พยายามไม่ให้มือไปถูกรอยตัดก้านใบ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่พอใจ
คือสามารถติดได้ ถึงร้อยละ 90
เมื่อเปรียบเทียบกับติดตาหลับ (ตาหลับของกิ่งตาเขียวและเขียวกึ่งน้ำตาล
ซึ่งต่างกับตาบอดสีน้ำตาล ตาบอดดังกล่าวไม่นิยมติดเพระติดแล้วตาจะไม่ผลิออก)
ซึ่งติดได้ร้อยละ 95
แต่ก็พบอุปสรรคอีกคือ คนงานไม่ยอมติดตาก้านใบ
เพราะเคยติดตาก้านใบแล้วเน่าหมด ต้องชี้แจงแนะนำถึงสาเหตุของการที่ทำให้เน่าคือ ต้องพยายามรักษาความสะอาดและอย่าให้มือไปถูกแผลรอยตัดที่ก้านใบเป็นอันขาด
และเพิ่มค่าแรงให้จากการที่เคยติดตาเขียวและตาเขียวกึ่งน้ำตาล จากต้นละ 30 สตางค์
เป็นต้นละ 35 สตางค์ เฉพาะต้นที่ติดตาเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาคนงานก็สามารถติดตาก้านใบได้ถึงร้อยละ
95 เช่นเดียวกัน จึงทำให้ตาก้านใบซึ่งเคยทิ้งเสียร้อยระ 70 นำมาใช้เป็นประโยชน์ได้
กล่าวคือ ราคากิ่งตาขายเมตรละ 2 บาท แต่เดิมใช้ติดตาเขียวกึ่งสีน้ำตาลได้ 6-10 ตา
(6-10 ต้น) แต่ถ้าติดตาโดยใช้ตาก้านใบรวมทั้งตาเขียวกึ่งน้ำตาลในจำนวนกิ่งตา 1
เมตร ที่ชื้อมา 2 บาท สามารถติดได้ 15-25 ตา (15-25 ต้น)
นับว่าการติดตาก้านใบที่นายขำได้ทดลองเป็นผลสำเร็จครั้งนี้
ได้ทุ่นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก คือถ้าติดตาหลับ (ตาเขียวหรือกึ่งน้ำตาล) ตาหนึ่งคิดเป็นเงินประมาณ
20-30 สตางค์ และถ้าติดตาก้านใบรวมเข้าไปด้วย หมายความว่ากิ่งตา 1 เมตร ราคา 2 บาท
ใช้ติดได้ทั้งหมดประมาณ 25-25 ตาๆ หนึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 8-13 สตางค์ เท่านั้น
การติดตาโดยใช้ตาก้านใบ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
ซึ่งตามปกติติดตา 100 ต้น จะต้องใช้กิ่งตายางพันธุ์ดี จำนวน 15
เมตร ๆ ละ 2 บาท เป็นเงิน 30 บาท ถ้าใช้ตาที่มีก้านใบด้วยจะใช้กิ่งตายางพันธุ์ดีประมาณ
5 เมตร ๆ ละ 2 บาท เป็นเงิน10 บาท จึงนับว่าทุ่นค่าใช้จ่ายในการขยายพันธุ์ยางได้เป็นจำนวนมาก
และไม่ต้องทิ้งกิ่งที่มีก้านใบให้เสียไปประมาณ 70% อีกด้วย
ข้าพเจ้าคิดว่าบทความที่ได้เสนอมานี้
คงจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วไป ที่มีแปลงเพาะเป็นอย่างมาก
และถ้าท่านผู้ใดสนใจผ่านไปจังหวัดตรังจะเลยไปดูกิจการของนายขำ นุชิตศิริภัทรา ถนนสายตรัง-ปะเหลียน
บ้านเลขที่ 62/3 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง (ระหว่าง กม. ที่ 32-33) นายขำยินดีต้อนรับและให้ความรู้ต่าง
ๆ โดยละเอียด อย่างเป็นกันเอง