Follow Me

กยท.ปรับหลักเกณฑ์การโค่นสวนยางใหม่


กยท.ปรับหลักเกณฑ์การโค่นสวนยางเพื่อรองรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนใหม่ ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ราคาไม้ยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย้ำเกษตรกรเพียงแค่ยื่นเอกสารขออนุมัติก่อน กยท. จะลงพื้นที่ตรวจสอบทันที พร้อม เปิดไฟเขียว 2 ทางเลือกให้ชาวสวนยาง โดยรับเงินสงเคราะห์ 16,000 บาทต่อไร่เช่นเดิม

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาไม้ยางพารามีแนวโน้มราคาที่ดีตามลำดับ ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ราคาประมาณ 42,177 บาทต่อไร่ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาไม้ยางดังกล่าว และเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการโค่นไม้ยางพารา กยท. จึงได้ออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางพาราก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการปรับหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

 

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ตามประกาศของ กยท. ดังกล่าว จะมีขั้นตอนที่แตกต่างจากเดิม และง่ายต่อการปฏิบัติคือ กำหนดให้เกษตรกรเจ้าของสวนยางห้ามโค่นยางก่อนได้รับอนุมัติ โดยเกษตรกรเจ้าของสวนยางที่มีความประสงค์จะโค่นต้นยางจะต้องยื่นคำร้องรับการปลูกแทนที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด หรือการยางแห่งประเทศไทยสาขาที่สวนยางของเกษตรกรตั้งอยู่ ซึ่ง กยท.จะจัดคำขอการปลูกแทนเรียงตามลำดับก่อนหลังไว้เป็นรายปี ในแต่ละปีเจ้าของสวนยางจะได้รับการปลูกแทนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ทั้งนี้ กยท. จะแจ้งให้เจ้าของสวนยางทราบล่วงหน้าว่า จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนในปีใด 

“หลังจากที่ กยท. ได้รับคำร้องแล้ว จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรังวัด เพื่อตรวจสภาพพื้นที่แปลงปลูก หากสวนยางเข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 4 มาตรา 37พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และระเบียบการยางแห่ง ประเทศไทย ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้เกษตรกรที่จะรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน จะต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีต้นยางอายุกว่า 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางได้ผลน้อย ตามหลักเกณฑ์ที่ กยท. กําหนด จึงจะอนุญาตให้โค่นต้นยางได้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

 

ทั้งนี้เมื่อเกษตรกรเจ้าของสวนยางโค่นต้นยางแล้วมี 2 ทางเลือกที่จะดำเนินการ คือ

 

1. กรณีเจ้าของสวนยางที่รอการปลูกยางหรือไม้ยืนต้นไปถึงปีที่ได้รับอนุมัติให้การปลูกแทน กรณีนี้เจ้าของสวนยางจะได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทนตามปกติ คืออัตราไร่ละ 16,000 บาท

 

2. กรณีเจ้าของสวนยางต้องการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อการอื่นไปก่อน เช่น ปลูกพืชล้มลุกพืชระยะสั้น การทำสวนยางแบบผสมผสาน เป็นต้น ก็สามารถกระทำได้ กยท. จะให้การสนับสนุนทางด้านอาชีพเสริมและให้บริการทางด้านวิชาการ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติการปลูกแทนในปีใด เจ้าของสวนยางก็จะได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทนตามปกติคืออัตราไร่ละ 16,000 บาทเช่นกัน

 

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า ในปี 2564 มีเกษตรกรชาวสวนยางต้องการโค่นต้นยางพาราถึง 470,000ไร่ มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 70,000 ไร่ ซึ่งหากเกินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไว้ในปีนี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทน ในปีงบประมาณ 2565 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี กำหนดที่จะลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหลือประมาณ 18.4 ล้านไร่ภายในปี 2579 กยท. จึงได้ขยายเป้าหมายในการลดพื้นที่ปลูกยางจากเดิม 200,000 ไร่ต่อปีเป็น 400,000 ไร่ต่อปี เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคายางพารา และให้ปริมาณไม้ยางมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งในส่วนของไม้ยางและไม้วู๊ดพาเลท


การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากจะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้นจากการโค่นไม้ยางพาราแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการไม้ยางพาราให้มีวัตถุดิบไม้ยางเพียงพอสำหรับแปรรูปไม้ในสถานการณ์ที่ตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

กยท. ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2564-2565 อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นมากกว่า 10% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย ส่งผลให้มีความต้องการใช้ไม้ยางมากขึ้น ราคาจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กยท. มีนโยบายที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมไม้ยางของไทยให้เติมโตและเข้มแข็ง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยางพาราอื่นๆ จึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ที่มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง ขั้นปลายน้ำ รวมถึงกิจการไม้ยางพาราด้วย ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ซึ่งโครงการจะหมดเขตในเดือนธันวาคม 2564 นี้

 



แสดงความคิดเห็น

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *