สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าประเทศไทยอบอวลไปด้วยความเศร้าโศก
และขนานนามว่าประเทศไทยกลายเป็น “ดินแดนแห่งน้ำตา” (Land
of Tears)
ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง...???
เป็นเพราะตลอดการครองราชย์สมบัติ 70
ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือที่คนไทยเรียกว่า “ในหลวง” ท่านได้ประกอบพระราชกรณียกิจในทุกๆ
ด้าน ก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศเหลือล้นเกินจะบรรยายได้ อย่างที่ในเพลง “พระราชาผู้ทรงธรรม”
เขียนไว้ว่า “คงต้องใช้เวลาเท่าชีวิตนี้”
จึงจะบรรยายคุณความดีที่ในหลวงทำเพื่อคนไทย
เพราะในหลวงท่านอุทิศตนทั้งชีวิต...เพื่อคนไทย
อย่างแปลกได้เลยที่คนไทยจะรักในหลวง
ดุจ “ดวงแก้ว” และเมื่อท่านจากไป เมืองไทยจึงกลายเป็นดินแดนแห่งน้ำตา
ข้าพเจ้านายขำ นุชิตศิริภัทรา และครอบครัว
เป็นหนึ่งในคนไทยที่รักและบูชาในหลวง และตกอยู่ในความเศร้าโศกอย่างยิ่ง
เมื่อทราบว่าท่านเสด็จสวรรคต และอดที่จะนึกถึงพระคุณบารมีที่ท่านได้สร้างประเทศไทยขึ้นมาจนมีวันนี้
แค่นึกถึงน้ำตาก็ไหล...
ความปลาบปลื้มครั้งหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้าที่มีต่อในหลวงเกิดขึ้นในปี
2502 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่ง จังหวัดตรังคือหนึ่งในจังหวัดที่ท่านเสด็จเยือน
ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุเพียง 19 ปี ตอนนี้ยังเป็นหนุ่มโสดเลยทีเดียว
เมื่อทราบข่าวว่าจังหวัดตรังอยู่ในเส้นทางเสด็จของท่านก็ปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดไม่ได้
รวมทั้งชาวตรังทั้งจังหวัด เฝ้ารอชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์
และตอนนั้นข้าพเจ้ายังทำหน้าที่เป็น
“นักข่าวพิเศษ” รายงานข่าวให้กับวารสารสกุลไทย ขณะนั้นเล่มละ 3.50 บาทเท่านั้น
วันที่ 16 มีนาคม 2502 ข้าพเจ้าจำได้ดี เป็นวันที่ขบวนเสด็จของในหลวงและราชินีเสด็จมาถึงตัวเมืองตรัง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า ที่ทรงให้พสกนิกรชาวตรัง
ได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และถวายความจงรักภักดี โดยใกล้ชิด
ข้าพเจ้าได้บันทึกบรรยากาศและความปลาบปลื้มของชาวเมืองตรัง
มาถ่ายทอดในวารสารสกุลไทย โดยใช้นามปากกาว่า “ขำ หวังดี”
ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้รายงานข่าวในวาสารสกุลไทยไว้ดังนี้
หลังจากองค์ประมุขแห่งชาติทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวภาคใต้หลายจังหวัดเรื่อยมา จนกระทั่งถึงจังหวัดตรัง ซึ่งประชาชนได้รอเฝ้าพระบารมีกันอย่างคับคั่ง พ.ต.อ.บุญณรงค์ วัฑฒนายน ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้เป็นประธานในการต้อนรับเสด็จครั้งนี้อย่างมโหฬาร...เวลา ๑๐.๐๐ น. ก้องเกียรติยศ ตำรวจภูธรภาค ๗ เดินขบวนเตรียมรับเสด็จรอบๆ บริเวณตลาด ต่อจากนั้นขบวนพาเหรดจากนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ก็เดินแถวหยุดรายเรียงตามทางผ่าน ๒ ถนน เพื่อเฝ้ารับเสด็จ ท่ามกลางแสงแดดที่อ่อนๆ และประชาชนจากทุกอำเภอมารอรับเฝ้าชมบุญบารมีกันแน่นขนัด ทุกอาคารบ้านเรือนประดับธงทิวโบกสะบัด ทำให้บรรยากาศของวันนั้นอบอวลไปด้วยความซาบซึ้งตรึงใจของประชาชนทุกคน ในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ จวบจนกระทั่งถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสดเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จถึงซุ้มต้อนรับของจังหวัด พระเถรานุเถระพระพุทธมนต์สวดถวายพระพรชัย...ต่อจากนั้นก็เสด็จผ่านมาตามถนนวิเศษกุลเลี้ยงลงถนนราชดำเนิน ประชาชนเปล่งเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับ พระภิกษุสงฆ์ประพรมพระพุทธมนต์สวดชัยมงคลคาถา ขบวนเสด็จจึงได้ค่อยๆ เคลื่อนผ่านประชาชนสองฟากถนน เลี้ยงขึ้นถนนกันตัง ผ่านซุ้มรับเสด็จต่างๆ ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องก้องมาทุกระยะ สองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ ยิ้มรับทักทายด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระกรุณาธิคุณนำความปลาบปลื้มปีติมาสู่ราษฎรอย่างล้นเหลือ...ต่อจากนั้นรถพระที่นั่งก็เคลื่อนไปตามถนนพระรามหก วกลงถนนวิเศษกุล เสด็จต่อไปยังที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งๆ ได้จัดไว้สำหรับประทับแรมชั่วคราว เวลา ๑๓.๐๐ น.ทรงพระเสวยกระยาหาร บนจวนที่จัดเป็นพระตำหนักชั่วคราวเวลา ๑๔.๐๐ น.เสด็จไปน้ำตกกระช่อง กลับถึงที่ประทับแรม ๑๖.๓๐ น.เวลา ๑๘.๐๐น.เสด็จออกพลับพลาไชยชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดตรัง สองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงทักทายกับพสกนิกรถ้วนหน้าถามข่าวสาระทุกข์สุขดิบอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง ทรงรับของถวายและช่อดอกไม้จากผู้นำมาถวายด้วยการตรัสขอบใจตลอดเวลา จนกระทั่งถึงเวลา ๑๗.๐๐ น.จึงเสด็จกลับมากลับมายังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เวลา ๑๘.๓๐ น.ทอดพระเนตรการแสดงมหรสพพื้นเมือง หน้าที่ประทับ ซึ่งคณะจัดต้อนรับเสด็จเล่นถวาย มีรำอวยพร, มะโนรา, รองเง็ก ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรกเกล้าโปรดกระหม่อมให้บรรดาพ่อค้าข้าราชการ, และภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ มีนาคม เวลา ๑๙.๐๐ น.ทรงอำลาประชาชนเสด็จจากจังหวัดตรัง ไปจังหวัดพัทลุง รายงานข่าวโดย “ขำ หวังดี”
หลังจากนั้นและตลอดการครองราชย์
ในหลวงเสด็จเยือนจังหวัดตรังอีกนับสิบครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม
2502 เป็นครั้งที่ข้าพเจ้าจดจำได้แม่นยำ
เพราะข้าพเจ้าได้ติดตามและรายงานข่าวบรรยากาศและความปลาบปลื้มของชาวตรังที่มีต่อในหลวงและราชินี
ซึ่งจะจารึกอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าอย่างไม่รู้เลือน
น้อมสำนึกในพระ มหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
previous article
บทความใหม่กว่า
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น