Follow Me

การปลูกยางอย่างถูกวิธี (คิดแบบนอกกรอบ)

ช่วงนี้หลายๆ พื้นที่ เตรียมวางแผนปลูกยางกันแล้ว เนื่องจากปีนี้ราคายางอยู่ในทิศทางที่ดี 

แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝนนะครับว่าจะมาตอนไหน ควรวางแผนให้ดี  เพราะการปลูกยางถ้าไม่มีแหล่งน้ำต้องรอฝนอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงการปลูกยางผมก็มีเทคนิคเล็กๆ น้อยเกี่ยวกับการวางแนวปลูกยางมาฝาก ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่ผมปลูกยางมานาน โค่นปลูกใหม่มาแล้วหลายครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังปลูกใหม่อยู่เรื่อยๆ

การไถพรวนดิน

การไถพรวนดินก่อนปลูกยางที่ถูกต้อง ควรใช้แบบ 3 จาน และต้องไถ 2 รอบ รอบแรกไถจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แล้วทิ้งไว้ 7-15 วัน ให้ดินตากแดดฆ่าแบคทีเรีย เที่ยวที่ 2 จะไถจากทิศเหนือไปใต้ 

เหตุผลที่ต้องไถอย่างนี้ ดินจะร่วนซุย และจะตัดรากที่หลงเหลือจากการตัดโค่นได้ละเอียด ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกยางใหม่ ที่ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราด้วย แต่ไม่ควรใช้จากไถ 7 จาน เพราะความยาวของจานที่ 7 มันจะเหมือนกับไม้ท่อนมันจะลากให้หน้าดินเสมอกัน มันเหมาะกับการไถปลูกพืชไร่ ข้าวถั่ว เป็นต้น แต่ไม่เหมาะกับการปลูกยาง

การวางแนวปลูกยาง

การวางแนวปลูกยางที่ผมใช้กับสวนยาง ถ้าจะให้ดีต้องวางแถวสลับ “ฟันปลา” เหมือนกับการปลูกปาล์มนั่นแหละครับ ระยะที่เหมาะสมตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำคือ 3x7 เมตร ระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถวห่างกัน 7 เมตร

แล้วการวางแนวต้องทำเป็นมุมฉาก จะลดหรือยอมกันไม่ได้เลย ต้องทำเหมือนการวัดระดับน้ำ เชือกที่ใช้ตีวางแนวต้องอยู่ระดับเดียวกัน ถ้าระดับไม่เท่ากัน แถวยางจะผิดเพี้ยนไม่ตรงเลย และจะเพี้ยนไปทั้งหมดเลย สวนยางก็จะไม่สวย

แต่ที่สำคัญก็คือ การวางแนวสลับฟันปลาจะช่วยให้ต้นยางแต่ละต้นไม่บังแสงกัน กิ่งก้านสาขามันเสรี การโตของต้นยางเต็มที่ พอทรงพุ่งใหญ่ขึ้นมามันจะสานซึ่งกันและกัน โอกาสที่ลมจะพัดหักไม่มีเพราะมันล็อกซ้อนกัน จะพยุงกันแต่ละต้น

 
การขุดหลุม

การขุดหลุมผมเคยบอกเล่าไปแล้วหลายครั้งว่า ต้องขุดหลุมใหญ่ใช้แบ็คโฮขุด ดินที่ผ่านการขุดยิ่งจะนิ่มและร่วนซุย รากสามารถชอนไชไปในดินได้ดี แล้วลองพิจารณาว่าดินที่เราปลูกยางแล้วไม่เคยขุดดินหรือไถพรวนเลย จอบยังขุดไม่ลง แล้วรากยางจะชอนไชไปได้อย่างไร

ยิ่งดินที่มีความแห้งแล้งอย่างภาคอีสานรากก็จะเดินได้ยาก ดังนั้นการขุดหลุมใหญ่ๆ จึงช่วยในการพรวนดินได้เลย ดินโปร่ง การเดินของรากก็ดี ยิ่งหลุมใหญ่ขนาด 80
x80 ซ.ม. 

อย่างที่ผมทำยิ่งดี ขุดแล้วปล่อยลงไปเหมือนการขุดพรวนดิน เวลาปลูกก็ใช้จอบขุดหลุมอีกที ดินจะร่วนซุย รากเดินได้ดีที่สำคัญการขุดหลุมที่ไม่ควรใช้คือ
 การเจาะหลุมปลูกยาง” เพราะการเจาะจะใช้สว่านใหญ่การหมุนของเครื่องจักร 2,500 รอบต่อนาทีเวลาหมุนมันมีความร้อน มันจะไปกดให้ดินรอบๆ แน่นกลายเป็นอิฐเลย ถ้าเราปลูกยางลงไปรากไม่สามารถที่จะชอนไชไปได้เลย ยางจะชะงักไปเป็นปีๆ กว่าดินจะหายแข็ง

แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกให้ดีอย่าปลูกเอาแต่ง่าย โดยเฉพาะคนที่รับจ้างปลูกยาง  จะปลูกกันตื้นๆ ที่ดีควรปลูกฝังกลบให้คอตาพันธุ์ดีลึกลงไปในดิน 3-4 นิ้ว แล้วหลุมต้องทำเป็นแอ่งกระทะนิดหน่อย เวลาใส่ปุ๋ยก็ง่าย ต้นยางจะไม่เป็นเท้าช้าง จะเป็นปัญหาตอนกรีดยางโคนต้น พอมาถึงเท้าช้างก็กรีดไม่ได้แล้วต้องขึ้นหน้าใหม่ การกรีดยางก็จะมีอายุน้อยลง

ประสบการณ์ในการปลูกยางของผมที่เจอเมื่อหลายปีก่อน ผมมีที่ปลูกยางสงเคราะห์ปลูกใหม่ อยู่
 62 ไร่ ลูกน้องกรีดยางมาขอเหมาปลูกยาง ตั้งแต่ ตัดไม้ชะมบ อันละ 3 บาท ขุดหลุมละ 8 บาท

ตอนนั้นมีรถไถดินยี่ห้อฟอร์ด มีที่เจาะหลุม เขามาเสนอจะเจาะให้หลุมละ 4 บาท ถูกกว่าใช้คน 4 บาท ใจผมก็อยากจะให้เจาะ เพราะถูกแล้วได้ดี ไม่โกงอีก แต่ไหนๆ ก็คิดว่าช่วยลูกน้องใช้เขาขุดหลุมวางแนวปลูกยาง แพงหน่อยไม่เป็นไร

แต่พอผ่านไปสิบกว่าวัน คนขุดมาหาที่บ้าน ผมถามว่าจะคิดตังค์แล้วเหรอ ขุดเสร็จแล้วหรือ เขาบอกว่าไม่ไหว
 “เห็นดาว” ผมก็งง เขาบอกว่าดินมันแข็งจริงๆ เพราะเราเอาตามหลักวิชาการเกษตรเลย 50x50x50 ซม.

ผมก็คุยว่าถ้างั้นจะให้รถมาเจาะแล้วกัน แต่ผมสงสารเพราะเป็นลูกน้องเก่า แต่เขาขุดได้แค่ครึ่งเดียว มาขอเพิ่มที่เหลืออีกหลุมละ 2 บาท เป็น 10 บาท ใจจริงๆ ก็อยากให้ แต่ผมเลยบอกงั้นไม่เป็นไร เอาเท่าที่ได้แล้วผมจะใช้รถเจาะหลุมแทน แต่เจ้าของรถเจาะโก่งราคาอีก ขอเพิ่มเป็น 5 บาท แต่ผมต่อ 4.50 บาท เจาะหลุมประมาณ กว้าง 30 ลึก 60 ซ.ม.

หลังจากนั้นก็นำยางไปปลูกประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็มาดูว่าทำไมต้นยาง
 KT.311 ที่เราปลูกไว้ทำไมโตไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งมันสูง 3.50-4 เมตร

แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นหลุมที่เจาะมันสูง 2-2.50 เมตรเท่านั้น มันต่างกันเป็นเมตรสองเมตร ก็สงสัยว่าทำไม ปุ๋ยก็เหมือนกัน พันธุ์ยางเหมือนกัน ดินก็เหมือนกันตอนหลังผมก็ลองไปขุดมาดู ผลที่ออกมาชัดเจนเลยดินในหลุมมันแข็งกระด้าง แล้วรากยางไม่สามารถชอนไชได้ รากจะม้วนอยู่ในหลุมเจาะชอนไชออกไปรอบๆ ไม่ได้เลย ต้นยางถึงชะงักงันนี่เป็นประสบการณ์ที่ผสมเจอมากับตัว


การสร้างสวนยางนั้นหลักใหญ่ๆ เราต้องรู้ 2 อย่าง

พันธุกรรม ต้องเลือกว่าพันธุ์ไหนให้น้ำยางดี โตไว ผลผลิตสูง ต้านทานโรค

ต้องรู้เรื่องปุ๋ย
 ต้องรู้ว่า NPK คืออะไร แล้วนอกเหนือจาก 3 ตัวนี้ ยังมีธาตุอาหารรอง แม็กนีเซียม และทองแดง เป็นต้น เราต้องรู้ การที่เราซื้อปุ๋ยที่ไม่มีมาตรฐาน แต่การจะใช้ปุ๋ยที่ดี ต้องตรงตามที่พืชต้องการตามหลักวิชาการคือ ส่งดินไปตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหาร แล้วผสมปุ๋ยตามที่ขาดและพืชต้องการ ไม่ต้องใช้ฟิลเลอร์ มีเนื้อปุ๋ยล้วนๆ

แต่ปัญหาก็คือสวนยางเล็กๆ ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง และทำได้ยุ่งยากสำหรับเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นผมจึงมาคิดว่าไม่เป็นไรเราใช้ปุ๋ยแพง ปุ๋ยดีไปเลย หายี่ห้อที่ได้ปุ๋ยเต็มสูตร บางครั้งอาจจะใส่สูตรที่เกินความต้องการของต้นยาง เช่นผมจะเอาสูตรเสมอ 16-16-16 มาใสยางเล็กจนถึงเปิดกรีด เพราะเป็นปุ๋ย “ครอบจักรวาล” มันบำรุงทุกส่วนตามที่ต้นยางต้องการ แล้วเราใส่น้อยแต่บ่อยครั้ง  ระยะแรกเราใส่ 2 เดือน/ครั้ง

แต่อย่างไรก็ตามการทำสวนยางเราจะหนีปุ๋ยเคมีไม่พ้น แต่อาจจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เสริม แต่ระยะแรกเราต้องการให้ต้นยางแข็งแรงเราจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี พอต้นยางตั้งต้นได้ค่อยใส่อินทรีย์ เพราะการใส่แต่เคมีดินจะแข็งต้องใช้อินทรีย์เสริมบ้างยิ่งดี

ยาฆ่าหญ้า

ต้องมีความรู้เรื่องยาฆ่าหญ้า ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย หลายรายที่ผมไปเจอมาปรึกษาว่ายางที่ซื้อมาปลูกดีๆ โตดีๆ แต่พอฉีดยาฆ่าหญ้าแล้วใบเรียวยาว และใบหยิกๆ พอพูดอย่างนั้นผมรู้เลย เป็นเพราะไม่รู่ว่ามาจากการใช้ยาฆ่าหญ้าผิด แสดงว่าใช้ยาฆ่าหญ้าแบบดูดซึม

ในสวนยางต้องใช้ ชื่อสามัญ พาราควอต” เป็นยาฆ่าหญ้าจำพวกเผาไหม้ เช่น กรัมม็อกโซน หรือซื้ออะไรหลายๆ ที่ห้อที่มีชื่อโซนๆ ทั้งหลายแหล่

ส่วนยางพวก ไกรโฟเซต” เป็นยาจำพวกดูดซึม สำหรับฉีดหญ้าที่ยังไม่ได้เตรียมดินปลูกยางฉีดใช้ได้ ฆ่าจะตายนานเพราะมันดูดซึมถึงราก แต่จะใช้กับยางปลูกใหม่หรือสวนยางเปิดกรีดไม่ได้เลย ถ้ามันลงรากจะทำให้ต้นยางชะงักเลย และไม่โต เพราะมันโดนยาฆ่าหญ้า ถ้าเป็นต้นที่กำลังให้น้ำยาง น้ำยางจะลดทันที เพราะมันจะไปทำลายราก ถึงรากเหง้ายางดูดซึมไม่ควรใช้แต่แรงงานหายาก ยาดูดซึมต้องฉีดบ่อย แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยง ถ้ามีแรงงานดายหญ้ายิ่งดี

แต่ปัญหาใหญ่ของในสวนยางก็คือ แรงงาน ผมก็ตอบยาก เทคนิคดีๆ มีเยอะ แต่ไปไม่รอดเพราะไม่มีแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้เครื่องจักรไม่ได้ และแรงงานที่จะใช้คนไปใช้แรงงานนี่สิ



แสดงความคิดเห็น

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *