Follow Me

เทคนิคขุดบ่อ สร้างโต๊ะจีน ในสวนยาง ช่วยประหยัดปุ๋ย 50%

ปุ๋ยคือ อาหารหลักของต้นยางพาราเพราะปุ๋ยมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง โดยเฉพาะยางเปิดกรีดที่ต้องการธาตุอาหารเพื่อผลิตน้ำยาง

ดังนั้นสวนยางที่ไม่มีการให้ปุ๋ยหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นยาง ปริมาณน้ำยางจะน้อยตามไปด้วย

แต่ใช่ว่าการให้ปุ๋ยมากๆ เพียงอย่างเดียวจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้นได้เสมอไป

ถ้าการให้ปุ๋ยไม่ถูกวิธี…!!!

ปกติการใส่ปุ๋ยต้นยางของชาวสวนยางที่นิยมใช้มี 2 วิธีหลักๆ คือ การหว่าน และการฝังกลบ แต่การใส่ปุ๋ยทั้ง 2 วิธีมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน พอๆ กัน โดยเฉพาะการให้ปุ๋ยด้วยวิธีการหว่าน ข้อดีมีอย่างเดียวคือ สะดวก และประหยัดแรงงาน

ขณะที่จุดอ่อนเต็มกระบุง...!!! 

ใส่ปุ๋ยแบบขุดหลุมฝังกลบ
━━━━━━━━━━━

ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียเนื้อปุ๋ยที่มักจะหมดไปกับ การระเหยไปในอากาศ ของปุ๋ยที่มีแอมโมเนีย และเมื่อฝนตกหนักๆ ปุ๋ยจะละลายและไหลไปกับน้ำอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการสูญเสียปุ๋ยมหาศาล


━━━━━━━━━━━━━━━
ต้นยางอาจจะกินปุ๋ยได้เพียง 20-30% เท่านั้น
━━━━━━━━━━━━━━━

เท่ากับว่าต้นทุนปุ๋ยที่ลงไปในสวนยางกลับได้ผลผลิตตอบแทนไม่เต็มที่ ซึ่งจะกลายเป็นว่าต้นทุนการผลิตในสวนยางสูงขึ้น เพราะเมื่อน้ำยางน้อย เกษตรกรจะคิดว่าปริมาณการให้ปุ๋ยไม่เพียงพอ จึงคิดว่าต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม


เกษตรกรบางรายจึงต้องให้ปุ๋ยเพิ่มมากกว่าปีละ 2 ครั้ง

ขณะที่การให้ปุ๋ยแบบฝังกลบ คือการตอบโจทย์การใส่ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุด เพราะการให้ปุ๋ยวิธีนี้จะขุดหลุมฝังปุ๋ยลงไปในดิน ต้นยางก็จะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้เต็มที่
ภาพตัวอย่างบ่อปุ๋ยในประเทศจีน จะเห็นว่าภายในบ่อจะมีเศษใบยางกิ่งยางย่อยสลายอยู่ในบ่อ และจะกลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสำหรับบำรุงดินและต้นยาง 
━━━━━━━━━━━

แต่การใส่ปุ๋ยวิธีนี้ต้องใช้แรงงานขุดหลุมกว้างประมาณ 3-4 หน้าจอบ แล้วฝังกลบ ต้นละ 4 หลุม แต่มีต้นทุนการขุดหลุมและใส่ปุ๋ย หลุมละอย่างน้อย 2 บาท และต้องขุดหลุมทุกครั้งที่ให้ปุ๋ย ไม่มีวันจบสิ้น

แต่เกษตรกรก็ไม่มีทางเลือกการใส่ปุ๋ยต้นยางที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดเท่าวิธีการฝังกลบอีกแล้ว...!!!
ใช่หรือไม่...???

ที่ผ่านมาอาจจะใช่ แต่สำหรับ นายขำ นุชิตศิริภัทรา เซียนยางพารารุ่นเก๋าแห่งเมืองตรังบอกว่า การให้ปุ๋ยแบบฝังกลบอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดอีกต่อไป

เมื่อเขาได้เทคนิคการให้ปุ๋ยแบบใหม่มาจากประเทศจีน โดยการ "สร้างโต๊ะจีน" ขึ้นในสวนยาง...???

นายขำ นุชิตศิริภัทรา เซียนยางเมืองตรัง นำเสนอเทคนิคการสร้างบ่อปุ๋ยในสวนยาง อิมพอร์ตจากเมืองจีน ซึ่งไปดูงานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครลงมือทำในเมืองไทยเลย และนายขำก็คือรายแรกที่กล้าทดลอง
━━━━━━━━━━━

หากแต่ในความหมายไม่ใช่โต๊ะจีนอย่างที่เราๆ ท่านๆ รับประทานกันตามงานมงคลต่างๆ หรอก

แต่เป็นการเปรียบเปรยเทคนิคการให้ปุ๋ยด้วยวิธีการขุดบ่อใหญ่ๆ ขึ้นกลางสวนยางแล้วนำสารพัดอาหารที่ต้นยางสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ใส่ไว้ในนั้น เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี เป็นต้น แล้วรากยางจะเดินเข้าไปรุมกินโต๊ะจีนเอง

เซียนยางพาราวัย 74 ปีบอกเล่าถึงเทคนิคการให้ปุ๋ยแบบแปลกแหวกแนวนี้ว่า ไม่ใช่เทคนิคที่คิดค้นขึ้นมาเองแต่อย่างใด แต่เกิดจากการไปศึกษาดูงานมาจากประเทศจีน ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ บอร์ด กสย. ช่วงปี 2538-2541 หรือเมื่อกว่า 19 ปีที่แล้ว

ภาพนายขำ เมื่อครั้งเป็นหนึ่งในบอร์ด กสย. ไปดูงานสวนยางในประเทศจีน ก่อนจะได้ความรู้เรื่องการขุดบ่อให้ปุ๋ยยางมานำเสนอชาวสวนยางในประเทศ และกำลังลงมือทำในสวนยาง จ.ตรังของตนเองหลายร้อยไร่
━━━━━━━━━━━

การเดินทางไปครั้งนั้นคณะได้เข้าไปดูการปลูกสร้างสวนยางของเกษตรกรสวนยางประเทศจีน แล้วพบเทคนิคการให้ปุ๋ยที่มีความน่าสนใจ และวิเคราะห์แล้วว่าเป็นวิธีการให้ปุ๋ยที่ดี เป็นการให้ปุ๋ยที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนจะนำกลับมาเผยแพร่แก่วงการสวนยางในเมืองไทยในช่วงนั้น

แต่ปัญหาก็คือเกษตรกรมองไม่เห็นภาพ ไม่เห็นตัวอย่าง และไม่เห็นผลเชิงประจักษ์ จึงไม่มีใครใช้การให้ปุ๋ยอย่างนั้นเลย ยังอาศัยวิธีหว่านและฝังกลบ

จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 19 ปีก็ยังไม่มีใคร
นำวิธีการให้ปุ๋ยต้นยางแบบดังกล่าวมาใช้ แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวถึงก็ตาม แม้กระทั่งนายขำผู้ไปเห็นและถ่ายทอด ก็ไม่ได้นำการให้ปุ๋ยที่แนะนำมาใช้


แต่ล่าสุดในวัย 74 ปี นายขำได้รื้อฟื้นการให้ปุ๋ยแบบสร้าง โต๊ะจีน หรือ คลังปุ๋ย ในสวนยางขึ้นมาอีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้ไม่ใช่การเผยแพร่ บอกเล่าด้วยตัวหนังสือหรือปากเปล่า แต่ลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง…!!!

วิธีการให้ปุ๋ยดังกล่าวทำอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไร แล้วผลที่จะได้คืออะไรบ้าง นายขำมีคำตอบ

━━━━━━━━━━━━━━━
วิธีการขุดบ่อสร้าง โต๊ะจีน หรือ คลังปุ๋ย ในสวนยาง
━━━━━━━━━━━━━━━

ขั้นตอนคือการสร้างหรือขุดบ่อ หรือหลุมขนาดใหญ่ขึ้นตรงร่องกลางระหว่างแถวยาง โดยทั่วไปพื้นที่ส่วนนี้จะกว้าง 7 เมตร นายขำใช้รถแบ็คโฮเล็กทำการขุดหลุมลึกประมาณ 80 .. – 1 เมตร แต่ความลึกที่เหมาะสมคือ 1 เมตร กว้างประมาณครึ่งเมตร ยาวประมาณ 9 เมตร หรือ ความยาวเท่ากับต้นยาง 3 ต้น


ช่วงที่เหมาะแก่การขุดบ่อปุ๋ย ก็คือช่วยปิดกรีดยางนี่แหละ เพราะเป็นช่วงที่งานในสวนยางว่าง ไม่มีฝน และทันท่วงทีสำหรับการใส่ปุ๋ยคอกในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
━━━━━━━━━━━

จากนั้นจะเว้นไปประมาณ 9 เมตร จึงจะขุดหลุมขนาดเท่ากัน แต่ละบ่อจึงห่างกัน 9x9 เมตร ทำอย่างนี้ไปจนสุดแถวยาง และจะขุดอย่างนี้ทุกร่องยาง แบบสลับแนวฟันปลา

ผลจากการขุดบ่อในสวนยางภาพที่เห็นแล้วตกใจคือ รากยางจะขาด และรากยางส่วนใหญ่ก็จะอยู่บริเวณผิวดิน จึงเกิดความสงสัยว่ารากยางจะเกิดการกระทบกระเทือนหรือไม่ ถ้าไม่กระทบแล้วรากยางจะลงไปกินปุ๋ยในบ่อนั้นได้อย่างไร…???

ตอนนี้รากมันยังไม่เดินลงไปในบ่อหรอก เพราะถูกตัดรากแต่หลังจากนี้ต้นยางมันจะค่อยๆ งอกรากใหม่ออกมาแล้วเดินลงไปในบ่อ เมื่อเราใส่ปุ๋ยลงไป รากมันรู้ว่าในหลุมมีปุ๋ยก็จะลงมาหาอาหารเอง 

หลังการขุดบ่อ รากต้นยางที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณหน้าดินจะขาดเสียหาย แต่นายขำบอกว่าต้นยางไม่กระทบมาก เพราะธรรมชาติของต้นยางจะค่อยสร้างรากใหม่ขึ้นมา
━━━━━━━━━━━


แต่ยังไงผู้เขียนก็ยังไม่เห็นภาพ และนึกไม่ออกจริงๆ ว่ารากมันจะเดินลงไปในบ่อได้อย่างไร…???

นายขำพยายามไขความข้องใจด้วยการพาไปดูตัวอย่างการเดินของราก จากแนวสวนยางที่มีการขุดร่องเพื่อระบายน้ำในสวนยาง ซึ่งมีลักษณะการขุดเช่นเดียวกับการขุดบ่อให้ปุ๋ยยางแบบที่นายขำกำลังทำอยู่

ตรงนี้ตอนขุดใหม่ๆ รากยางก็ขาดหมด แต่นานๆ ไปมันก็จะสร้างรากใหม่ลงไปในร่องเพื่อยึดต้นไว้ หลุมที่ผมกำลังขุดให้ปุ๋ยก็เหมือนกัน อีกหน่อยรากก็จะเดินอย่างนี้ และมันจะเดินเร็วด้วย เพราะเราใส่ปุ๋ยลงไปในนั้น รากจะเดินไปหาอาหารเอง

นายขำ พาไปชมตัวอย่างการเดินของรากยาง พร้อมอธิบายเพื่อความเข้าใจ ผู้เขียนจึงเห็นภาพชัดเจนขึ้น และเริ่มคลายความสงสัยในที่สุด

หลังการขุดบ่อ รากต้นยางที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณหน้าดินจะขาดเสียหาย แต่นายขำบอกว่าต้นยางไม่กระทบมาก เพราะธรรมชาติของต้นยางจะค่อยสร้างรากใหม่ขึ้นมา
━━━━━━━━━━━

สวนยางที่นายขำเริ่มขุดบ่อนั้นเปิดกรีดได้ประมาณ 3 ปี หรือต้นยางอายุประมาณ 8-9 ปี แต่นายขำบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องเริ่มขุดตั้งแต่ต้นยางอายุ 3 ปี เพราะต้นยางจะเริ่มปรับตัวได้ง่าย และโตไวเพราะอยู่ในช่วงที่ต้นยางกำลังเจริญเติบโต

พอยางอายุ 4-5 ปี รากมันจะเดินไปกินปุ๋ยและเป็นช่วงที่ยางกำลังต้องการอาหารและจะโตเต็มที่ ยางจะใหญ่ไว เปิดกรีดเร็ว

นายขำเลือกที่จะขุดบ่อในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงพักหน้ายาง ไม่มีกิจกรรมใดๆ  และเป็นช่วงที่ต้นยางพักตัวการทำงานจึงสะดวกและง่าย
แต่เจ้าของสวนวัย 74 ปี หลังขุดเสร็จช่วงต้นฝนเดือนพฤษภาคม จะยังไม่ใส่ปุ๋ย (เคมีลงไปในบ่อ เพราะรากยางยังไม่เดิน ยังคงต้องอาศัยการให้ปุ๋ยแบบขุดหลุมฝังกลบตามปกติไปก่อน รอจนกว่ารากยางจะงอกขึ้นมาและเดินลงไปในบ่อ แต่ช่วงการให้ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือปลายฤดูฝน จึงจะใส่ปุ๋ยเคมีลงไปได้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นรากจะเดินสมบูรณ์แล้ว

แต่ที่ทำได้เลย คือ ใส่ปุ๋ยคอกเช่น ปุ๋ยขี้ไก่ หรือขี้วัว ลงไปในบ่อในช่วงต้นฝนนี้ได้เลย โดยจะใส่ประมาณบ่อละ
 4 กระสอบ

แต่นายขำเน้นว่าถ้าจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่ ต้องผ่านกระบวนการหมักจนสมบูรณ์เสียก่อน อย่าใช้ปุ๋ยขี้ไก่สดๆ หรือเพิ่งนำออกมาจากเล้าไก่ใหม่ๆ เพราะอาจจะเกิดเชื้อราและทำให้ต้นยางเน่าตายได้

นอกจากนั้นบรรดาใบยาง กิ่งยาง หญ้าที่ตัดดาย ที่ร่วงหล่นลงมาก็จะไปรวมกันอยู่ในบ่อ และจะเกิดกระบวนการหมักโดยธรรมชาติกลายเป็นแหล่งผลิตธาตุอาหารที่เป็นอินทรีย์ให้กับต้นยาง โดยไม่ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเลย


เมื่อถึงเวลาให้ปุ๋ยเคมี นายขำบอกว่าก็แค่หว่านปุ๋ยลงไปในบ่อนี้ หลุมละประมาณ 2 กิโลกรัม/ครั้ง สำหรับต้นยาง 6 ต้น


เท่ากับว่าภายในบ่อจะอุดมไปด้วยอาหารของต้นยางที่เป็นทั้งอินทรีย์และเคมี เป็น
 “คลังปุ๋ยในสวนยางสำหรับให้ต้นยางกิน หรือที่นายขำบอกว่าบ่อนี้แหละคือ โต๊ะจีน


ปุ๋ยคอก ใบยางหมักจนเป็นอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี คือเมนูอาหารที่จะยกเสิร์ฟบนโต๊ะ รากยางก็จะมารุมกินโต๊ะจีนกันอย่างอิ่มหมีพีมัน


หากแต่ข้อดีของการสร้างโต๊ะจีนหรือขุดบ่อใส่ปุ๋ยยางแบบนี้นายขำบอกว่ายังมีข้อดีมากมายกว่านั้น


เริ่มจากการขุดบ่อให้ปุ๋ยจะลดการสูญเสียปุ๋ย เพราะเนื้อปุ๋ยจะไม่ไหลไปไหน ต่างกับการให้ปุ๋ยแบบหว่าน เมื่อฝนตกเนื้อปุ๋ยจะไหลไปตามน้ำหรือไม่ก็ระเหยไปในอากาศ ทำให้การให้ปุ๋ยหมดประสิทธิภาพ ต้นยางจึงมีโอกาสกินปุ๋ยได้ไม่เกิน
 30% เท่านั้นที่เหลืออีก 70% เกิดการสูญเสีย เท่ากับว่าเงินที่ลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่สวนยางสูญไปเปล่าๆ



ตามคำบอกเล่าของนายขำ บ่อปุ๋ยนี้จะกลายเป็น “คลังปุ๋ย” รวมอาหารสำหรับต้นยาง ทั้งที่เป็นเคมี และอินทรีย์
━━━━━━━━━━━

การขุดบ่อตามแบบฉบับของนายขำ ยังช่วยลดปริมาณการให้ปุ๋ยต้นยางได้อีกด้วย เพราะการให้ปุ๋ยจะใส่บ่อละ 2 กิโลกรัม/ครั้ง หรือ 4 กิโลกรัม/ปี หรือต้นละ 600 กรัม/ปี สำหรับต้นยาง 6 ต้น จากปกติที่จะต้องให้ปุ๋ยยางต้นละ 1 กิโลกรัม/ปีเท่ากับว่าจะสามารถลดปริมาณการให้ปุ๋ยเคมีลง และยังลดต้นทุนลงได้กว่า 50% เลยทีเดียว


แต่กลับได้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและธาตุอาหารต่างๆ จะถูกเก็บไว้ในหลุมตลอดทั้งปี การให้ปุ๋ยอย่างนี้ยังลดการใช้แรงงานใส่ปุ๋ยในสวนยางน้อยกว่าการหว่านและฝักกลบ

การให้ปุ๋ยแบบนี้เราไม่ต้องใช้วิธีหว่านปุ๋ย ซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง เกิดการสูญเสีย เวลาฝนตกลงมาหนักๆ ปุ๋ยละลายไปกับน้ำหมดยังประหยัดกว่าการขุดหลุม เพราะการขุดหลุมฝังต้องเสียค่าจ้างหลุมละ 2 บาท ต้นหนึ่ง 4 หลุม เท่ากับ 8 บาท/ต้น และต้องขุดหลุมทุกปี หลุมหนึ่ง ประมาณ 3-4 หน้าจอบและรากยางก็กินปุ๋ยได้ไม่เต็มที่อีก แต่การให้ปุ๋ยยางแบบนี้ทำให้ชาวสวนยางจัดการเรื่องปุ๋ยได้ง่ายและรวดเร็ว


ทั้งนี้การใส่ปุ๋ยของนายขำจะเลือกใส่ ปุ๋ยสูตร สูตรที่ใช้ก็คือ 16-16-16 (มีธาตุอาหารรองเสริม)และปุ๋ยนำเข้าจากมาเลเซียสูตร 15-5-21


การที่สวนยางนายขำเลือกใช้ปุ๋ยสูตร เพราะเป็นปุ๋ยครอบจักรวาล เหมือนเวลาถ้าเราปวดท้อง ปวดฟัน เราก็จะใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เป็นต้น ซึ่งเป็นยาครอบจักรวาล ปุ๋ยก็เหมือนกันแค่เลือกสูตรที่มีประโยชน์ แม้จะเสียเงินมากกว่าการซื้อปุ๋ยมาผสมเอง


เลือกแบบครอบจักรวาลแต่เลือกของดี และเลือกวิธีการใส่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


แต่ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำการผสมปุ๋ยใช้เอง ร่วมกับการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน นายขำให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การให้ปุ๋ยแบบนั้น ต้องใช้กับสวนยางที่ทำแปลงใหญ่ๆ ระดับร้อยไร่ พันไร่ เพราะที่ดินแปลงใหญ่ในแปลงเดียวกัน ดินแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อาจจะมีหลายชุดดิน เป็นต้น


ฉะนั้นจึงยากในการผสมปุ๋ยให้ตรงกับการวิเคราะห์ดินแต่ละแห่ง เกษตรกรรายย่อยทำได้ยาก และที่สำคัญปุ๋ยที่ใช้ในการผสมก็ราคาใกล้เคียงกับปุ๋ยสูตรสำเร็จ


การปลูกสร้างสวนยางแม้จะมีการพูดว่าปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมดินเสีย แต่การทำสวนกันจริงๆ แล้วจะหนีปุ๋ยเคมีไม่ได้เลย แต่เราต้องเลือกบริษัทที่มีหลักแหล่ง มีคุณภาพ เพราะอาจจะเป็นปุ๋ยปลอมหรือปุ๋ยไม่เต็มสูตรแล้วก็อาจจะใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักมาเสริมแทน

อีกหนึ่งข้อดีของการให้ปุ๋ยแบบนี้คือ เมื่อขุดบ่อ รากต้นยาง รากแขนงที่แตกออกมาใหม่ จะกอดดินบริเวณบ่อ รากยางจะกอดรัดดินแน่นขึ้น ทำให้ต้นยางไม่ล้มง่าย เมื่อเกิดพายุหรือลมแรงๆ


เมื่อฟังประโยชน์จากการให้ปุ๋ยแบบสร้างโต๊ะจีน ผู้เขียนพลอยสงสัยว่า เมื่อใบยางเศษกิ่งยางสะสมกันนานๆ
 หรือดินที่ถูกชะล้างไหลลงไปในหลุมจะทำให้หลุมเต็มหรือตื้นลงไหม แล้วการที่ใบยางหมักหมม จะมีปัญหาในหน้าฝนทำให้รากยางเน่าหรือไม่…???


แม้ในวัย 74 ปี นายขำก็ยังไม่หยุดนิ่งเรื่องการทำสวนยาง ยังคงหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้อยู่เสมอ จึงมีเกษตรกรสวนยางที่สนใจเข้ามาดูและศึกษาอยู่เนืองๆ 
━━━━━━━━━━━

นายขำแจงว่า
 “การขุดหลุมกว้างๆ ยาวๆ อย่างนี้ฝนตกลงมาน้ำไม่ล้นหรือขังแน่นอนเพราะน้ำจะซึมลงดิน แต่ถ้าเป็นสวนยางในพื้นที่น้ำใต้ดินต่ำจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ และโดยปกติพื้นที่น้ำใต้ดินต่ำจะปลูกยางไม่ได้อยู่แล้ว เหมาะสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน

ส่วนถ้าบ่อเต็มหรือตื้น จากการหมักหมมเป็นเวลานานๆ  ก็เพียงแค่เอาจอบมาคุ้ยเศษใบยางหรือดินออกมาเพื่อใส่ปุ๋ย

ประเด็นสำคัญของการให้ปุ๋ยตามที่นายขำแนะนำคือ ต้นทุนการขุดบ่อดูแล้วน่าจะสูงไม่น้อย นายขำเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายการขุดบ่อประมาณ
150 บาท/บ่อ แต่ถ้าเริ่มทำกับสวนยางอายุ 3 ปี ต้นทุนจะต่ำเหลือเพียง 50 บาท/บ่อ เพราะขุดหลุมไม่ลึกมาก 


แต่การลงทุนขุดบ่อแบบนี้เราทำครั้งเดียวอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี ไม่ต้องขุดบ่อยๆ

แต่ของนายขำเขาลงทุนซื้อรถแบ็คโฮเล็กไว้สำหรับขุดโดยเฉพาะ ราคาประมาณ 410,000 บาท 

เทคนิคการให้ปุ๋ยแบบนายขำ นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวสวนยางสามารถนำไปทำในสวนยางได้
 เพื่อเป็นการประหยัดและลดต้นทุนการทำสวนยางในภาวะที่ราคายางกำลังตกต่ำ วิธีที่ดีที่สุดที่เกษตรกรทำได้ก็คือการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต



แม้บ่อปุ๋ยจะก่อประโยชน์หลายทาง แต่ต้นทุนก็ไม่เบาพอสมควร นายขำบอกว่าต้นทุนการขุดบ่อละ 150 บาท ไร่ละ 12-13 บ่อ ต้นทุนการขุดประมาณไร่ละ 2,000 บาท แต่คุ้มค่าเพาะขุดครั้งเดียวอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี
━━━━━━━━━━━

ขอขอบคุณ
นายขำ นุชิตศิริภัทรา
37/10 .เจิมปัญญา  อ.เมือง จ.ตรัง 92000
โทรศัพท์ 08-1979-9999, 0911 311 311



  1. ยางอายุแปดปีทำได้หรือเปล่าครับ

    ตอบลบ
  2. ยาง10ปีไถ่ได้ไหมครับ ตอนนี้ผมใชโรตารีตีหยางเดีบวช่วยแนะนำด้วย

    ตอบลบ
  3. ทำได้ครับ อย่างสวนยางของนายขำตรังขุดในสวนยางอายุ4-5ปี และ15ปีขึ้นไป

    ตอบลบ
  4. หลังจากขุดบ่อไปแล้ว ตอนใส่ปุ๋ย ไม่ต้องมีอะไรกลบหน้าปุ๋ยหรอคับ ?กว่ารากจะลงไปถึง ปุ๋ยจะไม่ระเหยหรอ ขอคำชี้แนะด้วยครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  5. ได้อ่านแล้วผมกล้าที่จะทำขึ้นมาเต็มร้อยเลย
    ก่อนแค่ทำครึ่งๆ กลางๆ กลัวรากมันขาด

    ตอบลบ
  6. ได้อ่านแล้วผมกล้าที่จะทำขึ้นมาเต็มร้อยเลย
    ก่อนแค่ทำครึ่งๆ กลางๆ กลัวรากมันขาด

    ตอบลบ
  7. เปิดกรีดยางใหม่ ใช้วิธีนี้ ได้ไหมครับ

    ตอบลบ

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *