Follow Me

เล่าเรื่อง พันธุ์ยางดี...???


ถ้าพูดถึงเรื่องพันธุ์ยางดี คงต้องย้อนไปเมื่อครั้งมีการบัญญัติ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยการนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านเป็นคน จ.นครพนม ไม่ได้เป็นคนใต้

แต่ท่านเห็นว่าอาชีพสวนยางต้องมีการสงเคราะห์ชาวสวนยาง โดยการโค่นยางพาราพันธุ์เก่าที่ให้ผลผลิตน้อย สมัยก่อนยาง
 100 ต้น ได้ยางแค่ 1 กก.เศษเท่านั้น ท่านเห็นว่าต้องปลูกยางพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม3เท่า 100 ต้น ให้ยาง 3 กก. โดยให้การสงเคราะห์ไร่ละ 1,500 บาท บัญญัติไว้ในปี 2503 แต่เริ่มปลูกจริงในปี 2505

ผู้ที่จะรับการส่งเคราะห์ได้จะต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2.5 ไร่ ถ้าต่ำกว่านี้ไม่ให้ และต้องมียางเฉลี่ยไร่ละไม่น้อยกว่า 25 ต้น จำได้ว่าสมัยนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สงเคราะห์ชาวสวนยางจะฝากงานไว้กับ กสิกรรมอำเภอ หรือกสิกรรมจังหวัด
 ผมเองก็ทำสวนยางมาก่อนหน้านั้นปลูกเมื่อปี 2498 ก็เห็นว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ดี จอมพลสฤษดิ์ ท่านเห็นความสำคัญว่าทำไปชาวสวนยางต้องเปลี่ยนพันธุ์ยางเก่าเป็นยางพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผลผลิตน้ำยางก็สูงกว่าเดิมจนปัจจุบัน



ส่วนผมไม่ได้ปลูกยางอย่างเดียว แต่ผมสนใจเรื่องสายพันธุ์ยางด้วย ปี 2506 ผมได้จดทะเบียนผู้ผลิตและจำหน่ายพันธุ์ยางจากกสิกรรมอำเภอปะเหลียน แล้วยื่นหนังสือมาที่กรมกสิกรรม ท่านที่เซ็นใบอนุญาตจดทะเบียนแปลงขยายพันธุ์ยางเพื่อจำหน่ายคือ ม.ร.ว.จักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์ อธิบดีกรมกสิกรรมในสมัยนั้น หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน

สมัยนั้นผมมีพันธุ์ยางอยู่ 2 พันธุ์คือ PB 86  ของมาเลเซีย และ Tjir 1 ของมาเลเซีย พอมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. ขึ้นมาผมก็ประมูลขายพันธุ์ยางให้กับกองทุนสวนยางตลอด สมัยนั้นมีเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในการขยายพันธุ์กล้ายาง เช่นการวางระบบน้ำสปริงเกลอร์ในแปลง และการบรรจุหีบห่อก็ต้องใช้ลังไม้ ขนาด 1 หลา ลึก 50 ซ.ม. แล้วส่งพันธุ์ยางขายให้ สกย. ราคายางตาเขียวต้นละ 1.20 บาท  

มาภายหลังเราก็มารวมกลุ่มผู้ผลิตกล้ายางขึ้นใน จ.ตรัง ชื่อกลุ่มเกษตรกรทำสวนสุโสะ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีสมาชิก 18 ราย ทำกล้ายางขาย เป็นยุคแรกๆ ของแปลงกล้ายาง จ.ตรัง ส่งขายให้หลายจังหวัดในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี

ผมชอบและสนใจเรื่องพันธุ์ยางเป็นพิเศษ ถ้ารู้ว่าที่ไหนมียางพันธุ์ใหม่ๆ ผมจะไปดูและศึกษา และจะนำมาขยายพันธุ์ เมื่อปี 2508  ผมไปที่องค์การสวนยาง (นาบอน) ตอนนั้น คุณชุบ มุนิกานนท์ เป็น ผอ. (ภายหลังท่านก็มาเป็น ผอ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง) เพื่อจะมาซื้อยางพันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย
หรือศูนย์วิจัยยางคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็ไป สมัยนั้นเขาเรียกว่าสถานีการยาง แต่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์วิจัยยาง  

ตอนนั้นคุณโกสินทร์ สายแสงจันทร์ เป็นหัวหน้าสถานี  ผมไปหาข้อมูลว่าใครนำเข้ายาง RRIM 501 มาบ้าง จนทราบว่าคนที่นำเข้าพันธุ์ RRIM 501 เข้ามาชื่อคุณบวร ศิริวงศ์ อยู่ที่เขาบันไดนาง อ.หาดใหญ่ ถนนนิพัทธ์อุทิศ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเกาะหมีแล้ว คุณโกสินทร์ให้ผมไปขอแบ่งพันธุ์ยางจากคุณบวร และตั้งใจจะไปหาพันธุ์ใหม่จากคุณพิพัฒน์ สุวรรณกุล ที่คลองเปล เขามีพันธุ์ยาง LCB 1320 ให้น้ำยางดี แต่ต้นไม่ดีมันชอบสลัดกิ่ง

พอรู้ผมเหมารถสามล้อยาวๆ จากหาดใหญ่ 50 บาท ไปหา คุณบวร ศิริวงศ์ ที่เขาบันไดนาง เพื่อขอแบ่งพันธุ์ยาง RRIM 501 เพราะคุณบวรเป็นคนเดียวที่นำเข้ามาจากมาเลย์ พอถึงผมก็เข้าไปหาเจอลูกน้องเขา ผมก็ถามว่า “เถ้าแก่ไปไหนจะมาซื้อพันธุ์ยาง”

คนงานบอกว่ากำลังปลูกพืชคลุมดินอยู่ด้านใน ผมก็เดินดุ่มๆ เข้าไปหา เจอคนหนึ่งยืนใส่หมวกคาวบอย ก็คิดว่าน่าจะเป็นคุณบวร ผมก็ร้องทัก เถ้าแก่....!!!

พอหันมาเขาก็ชักปืนควับ แล้วร้องเสียงดังว่าอย่าเข้ามา...!!! ผมก็ตกใจแล้วร้องว่า “ท่านครับผมมาดีไม่ได้มาร้าย มาซื้อกิ่งตายาง หัวหน้าสถานีวิจัยยางให้มาแบ่งจากท่าน” 

เขาบอกว่าอยากได้ยางพันธุ์อะไรให้เขียนใส่กระดาษมา เดี๋ยวจัดให้ แล้วกลับไปรอที่บ้าน สมัยนั้นเวลาติดตายางต้นตอยางต้องใหญ่อายุ 1-2 ปี ตาก็เป็นตาน้ำตาลไม่ใช่ตาเขียวอย่างทุกวันนี้ พอเขาเอาตายางมาให้ เขาก็ตบบ่าแล้วพูดว่า “ไอ้น้องชายเดี๋ยวนี้อั้วไม่เชื่อใครแล้ว เพราะคนเดี๋ยวนี้เชื่อใครไม่ได้แล้ว ขอโทษด้วยนะ”

ผมก็จ่ายเงินไปแล้วก็รีบกลับ มารู้ตอนหลังว่าเขาเคยถูกจับไปเรียกค่าไถ่บนเขา เพราะฉะนั้นเขาวางใจใครไม่ได้ หลายปีจากนั้นรู้ว่าท่านเสียชีวิตเพราะถูกเรียกค่าไถ่ครั้งที่ 2 แล้วไม่ได้ เป็นที่น่าเสียดายมาก

นี่เป็นหนึ่งในวีรกรรมในการเสาะแสวงหาพันธุ์ยางที่ผมยังจำได้จนทุกวันนี้

แต่สมัยนั้นพันธุ์ยางที่ผมขยายหลักๆ มี 2 พันธุ์ดังๆ คือ PB 86 และ Tjir 1 ของมาเลเซีย แต่ตอนหลังมีพันธุ์ใหม่ เช่น RRIM 501 ของมาเลเซีย  PR 107, LCB 1320  2 พันธุ์นี้เป็นของอินโดนีเซีย หลังจากนั้นก็มี พันธุ์ RRIM 600, RRIM 605, RRIM 607,RRIM 623 (ยางต้นใหญ่ โตไว) RRIM 628, RRIM 703 (พันธุ์นี้มีลักษณะแปลกต่างจากพันธุ์อื่นปกติใบยางมี 3 แฉก แต่พันธุ์นี้มี 4 แฉก)

นอกจากนั้นก็ยังก็มีพันธุ์ TG 1 เป็นพันธุ์ของอินโดนีเซีย พันธุ์นี้ปลูกในที่ต่ำดี พันธุ์ยางจากบริษัท PB (บริษัท ปาดังเบซาร์แอคเซส) ของมาเลเซีย PB 5/5, PB 5/63 บริษัทนี้เป็นของเอกชนที่รัฐบาลมาเลเซียรับรอง เหมือนกับองค์การสวนยาง นาบอน ของไทยในอดีต

พันธุ์อื่นๆ ที่นิยมในช่วงหลังๆ ก็เช่น RRIM 623, RRIM 600, PB5/51, PR107, RRIM 501, RRIM 513,  PB 28/59, PB 310 แต่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร 

จนก่อนปี 1981 หรือ 2524 มีพันธุ์ PB 311 และ PB 330 โดยเฉพาะพันธุ์ PB 311 ผมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะมันเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดคัดมาจาก 194 พันธุ์ เคยลงในวารสารของสถาบันวิจัยยางเล่มที่ 2 พ.ศ. 2523


ยางพันธุ์ PB 311 ดังมาก ตอนนั้น ปุณมี ปุณศรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สมัยนั้น ท่านอยากได้มาปลูกในสวนของท่านที่ จ.จันทบุรี ท่านเป็นลูกหรือหลานของ หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี)  จึงอยากให้ศูนย์วิจัยยางสงขลา นำเข้ามาจากมาเลเซีย โดย นาย ลิม โปโล ก็นำเข้ายางพันธุ์ PB 311 เข้ามาในประเทศไทย แต่ตอนหลังพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่พันธุ์ PB 311เพราะผมไปเห็นในมาเลเซียมาแล้วเมื่อตอนได้รับเชิญจากศูนย์วิจัยยางคอหงส์ เชิญไปเข้าร่วมสัมมนายางที่กรุงกัลลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 2 ครั้ง ในปี 1981 ทำให้เกิดการพิสูจน์ว่าพันธุ์ PB 311 ที่ นาย ลิม โปโล นำเข้ามานั้นไม่ใช่ ดูใบก็รู้เลยว่าไม่เหมือนกัน

เวลาไปสัมมนาเขาจะมีการพาชมสวนยางของชาวมาเลเซีย
 3 วันสัมมนาอีก 1 วัน ทัศนะศึกษาดูสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน แต่ผมถนัดเรื่องยาง จนไปเห็นสวนยางพันธุ์ PB 311 ต้นสูงใหญ่ให้น้ำยางเต็มถ้วย จึงถามเจ้าหน้าที่จนรู้ว่าคือพันธุ์ PB 311 แต่ดูแล้วมันไม่เหมือนกับพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยที่ ลิม โปโล นำเข้าไปนี่หว่า แสดงว่าตอนนั้นเขาไม่ให้พันธุ์ยาง PB 311 แท้ให้เรา

ตอนหลังผมไปรู้กฎหมายยางระหว่างประเทศของมาเลเซียเขาเข้มงวดเรื่องพันธุ์ยางมาก ส่วนพันธุ์ยางที่จะมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศเขาจะให้แลกเฉพาะพันธุ์เก่า พันธุ์ใหม่เขาไม่ให้เพราะอยู่ในระหว่างทดลอง  และมาเลเซียยังมีการขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญากับพันธุ์ยางของสถาบัน
  RRIM ถ้าผู้ใดนำไปจำหน่ายนอกประเทศจะมีการปรับ 500 US ดอลลาร์

ผมเคยไปที่ศูนย์วิจัยยางคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ตอนนั้น คุณศรีโบ ชัยประสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ ผมไปเล่าให้คุณศรีโบฟังว่า ยางพันธุ์  PB 311 ที่นำเข้ามาในประเทศกับพันธุ์ที่ปลูกในมาเลย์มันไม่เหมือนกัน เพราะใบมันยาวๆ แต่ของจริงใบมันเล็กกว่าหน่อย แต่คุณศรีโบบอกว่าคุณจะไปรู้ได้อย่างไร บางทีเมื่อยางพันธุ์มาเลเซียนำมาปลูกในไทยอาจไม่เหมือนกันเพราะความแตกต่างด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้ และคนนำเข้ามา คือ ลิม โบโล เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญยาง

ผมก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ได้มั้ยครับท่าน ให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์ยางในประเทศไทยไปตรวจสอบ คือ คุณขนาน แสงสุริยันต์ และคุณจิต ศรีมาลา ปัจจุบันทั้ง 2 ท่านเสียชีวิตแล้ว เก่งเรื่องการตรวจสอบพันธุ์ยางมาก โดยผมขออาสาพาเขาไปดูยางพันธุ์ PB 311 ที่กรุงกัลลาลัมเปอร์ และขออนุญาตเสียค่าใช้จ่ายให้ทั้ง 2 ท่านเอง คุณศรีโบก็ตกลง

เวลาข้ามด่านไปมาเลเซียที่ด่าน อ.สะเดา พอดีผมรู้จักเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร เขาเคยเป็นตำรวจอยู่ อ.ปะเหลียน เขาบอกขากลับก็อย่าลืมเอาบุหรี่มาฝากเขาหน่อยสัก 2 หมอนนะ ก็ทำให้เข้าออกด่านได้ง่ายหน่อย

พอไปที่กรุงกัลลาลัมเปอร์ ผมและนักวิชาการยาง
 2 ท่าน ก็ขอเข้าไปที่สถาบันวิจัยยาง ซึ่งที่นี่นักวิชาการทั้ง 2 ท่านเคยมาดูงานครั้งหนึ่งแล้ว และผมก็ยังได้ญาติชาวมาเลเซียอำนวยความสะดวกในการเข้าไป ผมซื้อของติดไม้ติดมือไปฝาก มีผลไม้กวนจากเมืองไทย บุหรี่สามมิตร ของไทยไปฝาก ทำให้เข้าไปดูพันธุ์ยางในแปลงได้ง่ายขึ้น

เสร็จแล้วก็ไปบริษัท ปาดังเบซาร์แอคเซส เพื่อดูยาง PB 311 พอเข้าไปเจ้าหน้าที่ของเขาก็จะถามว่าไปหาใคร ญาติก็บอกว่าพาไปหาพรรคพวกที่สถาบันวิจัยยางมาดูพันธุ์ยางซะหน่อย แต่วันที่เราไปเป็นวันศุกร์ เจ้าหน้าที่คิดนิดหนึ่งแล้วบอกว่ามาวันจันทร์ได้ไหม แต่เราก็บอกว่าวันจันทร์เราจะกลับแล้ว ขอเข้าไปดูวันนี้เลยได้มั้ย

เวลาเข้าไปญาติผมกำชับเลยว่าอย่าไปพูดเรื่องพันธุ์ยางใหม่ๆ เด็ดขาด เพราะเขาหวงมาก ตอนนั้นเราเลี่ยงว่าเรามีความข้องใจพันธุ์ยาง Tjir 1 กับ PR 255 อยากเข้าไปดูตัวอย่างที่แปลงแม่พันธุ์ ถ้าบอกว่ามาดู PB 311 เขาจะไม่ให้เข้าแน่ๆ  

เจ้าหน้าที่ก็อนุญาต และให้เจ้าหน้าที่ประจำแปลงพาเราไปดู และมีแผนที่ตำแหน่งแปลงพันธุ์ยางแต่ละพันธุ์ เป็นสิบๆ พันธุ์ เราก็จะรู้ว่าพันธุ์อะไรอย่างตรงไหนรวมทั้งพันธุ์ PB 311

เราแกล้งไปดูแปลงพันธุ์ยาง
 Tjir 1 กับ PR 255 เพื่อเบี่ยงเบน หลังจากนั้นเราก็แอบไปดูแปลงพันธุ์ PB 311 ปรากฏว่านักวิชาการจากไทยทั้ง 2 ท่านดูแล้วเห็นตรงกันว่า ไม่เหมือนกับพันธุ์ที่ นายลิม โปโล นำเข้าไปในไทยอย่างชัดเจน นักวิชาการก็ถ่ายรูปลักษณะใบกลับมาเพื่อเปรียบเทียบให้แน่ใจอีกที  

 เมื่อแน่ใจว่าพันธุ์ยางที่ นายลิม โปโล นำเข้ามาไม่ใช่ของจริง ผมก็เลยให้ญาติที่มาเลเซียซื้อกิ่งตายางพันธุ์ PB 311 มา 2,000 กิ่ง กิ่งหนึ่งยาว 2 ฟุต ที่ซื้อขายข้ามประเทศได้ก็เพราะเจ้าของพันธุ์เป็นบริษัทเอกชน ที่รัฐบาลรับรอง สามารถซื้อขายได้ ต่างกับสถาบันวิจัยยางของมาเลเซียที่ห้ามขายออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด

ลักษณะใบยางพันธุ์ PB.311 (KT.311)

ผมให้บริษัทเขาระบุชื่อผู้ซื้อในนาม MR. KHAM NUCHITSIRIPATTARA เพื่อจะนำมาเป็นใบสำคัญนี้มาจดทะเบียนที่ศูนย์วิจัยยางคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 9 สิงหาคม 1981

พอได้มาผมก็ทำการขยายพันธุ์โดยด่วน เพราะคิดแล้วว่ามันเป็นพันธุ์ดีที่สุด ตอนนั้นเอาตา PB 311มาติดทับเปลี่ยนพันธุ์กับต้นแม่พันธุ์ RRIM 600 และ PB 5/51 เลยทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็วกว่า จากนั้นก็ขยายตัวนี้เป็นหลักมาเลย ตอนหลังผมขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์ KT 311(PB) ย่อมาจาก KHAM TRANG

การพิจารณาพันธุ์ยาง...!!!

ทำไมผมจึงต้องเสาะแสวงหาพันธุ์ยางดีๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เพราะผมมองว่าพันธุ์ยางมีความสำคัญต่ออาชีพสวนยาง ถ้าเราปลูกมันอยู่เป็นหลายสิบปี ถ้ายางพันธุ์ไม่ดี พันธุกรรมยางไม่ดี โอกาสแก้ไขยากแล้ว ผิดคือผิดเลย ดังนั้นผมจึงพิจารณาลักษณะของพันธุ์ยางอย่างละเอียด

อย่างยางพันธุ์ KT 311 (PB) การที่จะพิจารณาว่ายางพันธุ์ไหนให้ผลผลิตอย่างไร ต้องดูจากต้นยางที่ให้ผลผลิตอย่างน้อย 15 ปีขึ้นไป นับจากวันกรีดขึ้นไป เมื่อดูแล้วว่าให้ผลผลิตสูงจึงนำมาทำเป็นพันธุ์เชิงธุรกิจได้ ไม่ใช่เพียงแต่ “เขาว่า” แต่ไม่มีตัวเลขหรือการเก็บข้อมูลน้ำยาง พอไม่ชัดเจนมันก็เสี่ยงกับอนาคตที่เราวางแผนไว้

การต้านทานโรค อย่างไฟท็อเธอร่า เนื้อไม้เป็นอย่างไร โตไวไหม เพราะเมื่อน้ำยางหมดเราก็ยังสามารถขายไม้ได้ราคา ถ้ายางให้ผลผลิตสูง ไม้สวย ค่า DRC สูง ตั้งแต่ 42-48 ขึ้นไป มันมีจริงๆ อยู่ในพันธุ์ PB 311 หรือ KT 311



ยางพันธุ์นี้ลุงขำมีความยินดีถ้าชาวสวนยางจะนำไปขยายพันธ์เพื่อปลูกเอง แต่ถ้าทำแล้วเอาไปลงขายโดยการอ้างสรรพคุณ อ้างชื่อนายขำ มันไม่ถูก ไม่ใช่ว่าผมหวงอะไร แต่เอาไปขยายปลูกเองได้ เพราะของผมอาจจะแพงผมก็ไม่ว่า ไม่ใช่ทำแล้วนำมาขาย แต่ว่าไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าเป็น KT 311 หรือเปล่า ผมก็เลยต้องเตือนว่าอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างขายยางพันธุ์นี้ เพราะผมไม่มีตัวแทนจำหน่าย ไม่มีสาขา

ผมทำพันธุ์ยาง KT 311ด้วยใจรักไม่ยอมให้ใครเอาไปขยายขายแข่ง แต่เอาไปขยายพันธุ์ปลูกเองได้ไม่หวง แต่ถ้าขยายขายต้องขอสงวนสิทธิ์เพราะผมเอามาลำบาก 

จริงๆ สวนยางของผมก็ปลูกอยู่หลายพันธุ์ แต่ตอนหลังโคนปลูกใหม่จะปลูกอยู่พันธุ์เดียวคือ KT 311 หรือพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในการทดลองก็มีแต่ยังไม่ได้กรีด แปลงที่กำลังจะโค่นเป็นยางพันธุ์ 235 ,310 ก็มีหน่อย แต่ก็กำลังจะโค่นแล้วปลูก KT 311 เพราะดูแล้วตัวนี้ดีที่สุด 
เท่าที่ผมคลุกคลีพันธุ์ยางมามีสายพันธุ์ยางเยอะ แต่พันธุ์ดีๆต้องเลือกปลูกให้ดี ต้องดูจากประวัติการปลูกที่มีการปลูกกันเห็นผล

เดี๋ยวนี้ปลูกยางไม่ได้คิดว่าจะเอาน้ำยางเยอะอย่างเดียว แต่เอาทั้งยางเอาทั้งไม้ สมัยก่อนๆ 600 ถือว่าดีที่สุดแล้ว แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ มันมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆที่มีผลผลิตสูงกว่า เขาต้องเอาทั้งไม้ยางด้วยสวนยางต้นใหญ่ๆ สวยๆ ขายได้ไร่หนึ่งเป็นแสนก็มี ทำยังไงให้มันโตไว 3ปีก็กรีดได้ พันธุ์ 600 ต้อง 7 ปีกว่าจะได้กรีด

แต่พันธุ์ใหม่ๆ ที่มาเลเซียคิดค้นมันเร็วกว่านี้ 5-6 ปีก็กรีดได้แล้ว เขาเก่งเพราะเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเขามีระบบมาจากกาปกครองของอังกฤษ แล้วที่น่าทึ่งน่าอิจฉาการปกครองของเขาดีมาก มีกฎหมายแข็งแรง เป็นแบบอย่างที่ดีมาก  



แสดงความคิดเห็น

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *