Follow Me

เที่ยวเมืองตรังย้อนรอยอดีตยางพาราไทย ชมต้นยางเก่าแก่แห่งใหม่กลางเมืองตรัง


คาอุท์ชุค (Caoutchouc) แปลเป็นไทยว่า “ต้นไม้ร้องไห้” เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองบริเวณลุ่นน้ำอเมซอน แห่งทวีปอเมริกาใต้ เรียกต้นยางพารา ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้นคือ “ต้นกำเนิด” ของยางพารา

เท็จจริงไม่รู้ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าของเหลวสีขาวข้นคลักที่ไหลออกมาจากเปลือกยางพารา คือที่มาของคำเรียกต้นไม้ร้องไห้ ก่อนที่ภายหลัง “น้ำตา” จากต้นยาง ในปี 2313 มีการคิดค้นนำมาใช้เป็น “ยางลบ” สำหรับลบรอยดินสอโดยไม่ทำให้กระดาษเสียหาย  โดย โจเซฟ พริลลี่

53 ปี ต่อมา ชาล์ล แมกกินตอซ คิดค้นนำมาผลิตเสื้อกันฝนจำหน่ายในสก็อตแลนด์เป็นครั้งแรก   จากนั้นใน ปี พ.. 2389 โทมัส แฮนค็อค ประดิษฐ์ยางตันสำหรับรถม้าทรงของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการประดิษฐ์ล้อรถยนต์ได้สำเร็จในปี พ.. 2438 เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคการขนส่งการคมนาคมสมัยใหม่  และนำมาสู่อุตสาหกรรมยางทีมีบทบาทต่อมนุษย์โลกอย่างปัจจุบัน


สำหรับไทย ประเทศที่ยิ่งใหญ่ ของโลก ด้านอุตสาหกรรมยางระดับ “ต้นน้ำ” ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก หรือมากกว่า 3.5 ล้านตัน/ปี หากย้อนรอยประวัติศาสตร์ก็นำต้นยางเข้ามาปลูกในเมืองไทยมีการสันนิษฐานว่าเริ่มเข้ามาในปี 2442-2444 หรือเมื่อ  113  ปีผ่านมาแล้ว โดยการนำเมล็ดยางพารามาปลูกใน อ.กันตัง จ.ตรัง โดย คอซิมบี้ ณ ระนอง หรือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี หรือ พระยาเทษาภิบาลมณฑลภูเก็ต ตำแหน่งในขณะนั้น ชาวบ้านสมัยนั้นเรียกต้นไม้ต้นนี้ว่า “ต้นยางเทษา”
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี หรือ  คอซิมบี้ ณ ระนอง 
ผู้นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกในประเทศไทย 
ก่อนจะได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งยางพาราไทย


ปี 2444 พระยารัษฎาฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราทดแทนการทำเหมืองแร่ดีบุก นับจากนั้นต้นยางจึงได้ถูกขยายพันธุ์และกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้

ภายหลังปี 2454 หลวงราชไมตรี หรือ ปูม ปุณศรี นำพันธุ์มาปลูกใน จ.จันทบุรี จากนั้นกระจายไปทั่วประเทศกว่า 18 ล้านไร่เยี่ยงปัจจุบัน

กลายเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งในรูปของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท/ปี

จากมูลค่ายาง 7 แสนล้าน และเป้ารัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศนี้จะผลักดันให้มูลค่ายางพาราสูงถึง 1 ล้านล้านบาทในปีหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าทำได้ไม่ยากหากหันไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

จากเป้าอนาคตที่มีแนวโน้มเป็นจริง ผู้เขียนหวนกลับไปคิดถึงจุดเริ่มต้นของต้นยางพาราในเมืองไทย ซึ่งข้อมูลที่รู้กันดีว่ายางต้นแรก อยู่ใน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งน่าจะมีอายุมากกว่า 100 ปี คำถามคือ ร่องรอยของต้นยางยุคแรกๆ นอกจากยางต้นแรกที่ถูกนำมาชูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวฉิ่งฉับทัวร์ถ่ายรูป มากกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของมัน หลงเหลืออยู่เพียงต้นเดียวจริงหรือ...???

ต้นยางพารารุ่นเดียวกับยางต้นแรกที่หลงเหลืออยู่ ณ สวนกะพังสุรินทร์ อายุน่าจะเป็นร้อยปี มีอยู่ในสวนแห่งนี้ประมาณ 15 ต้น 
ต้นยางพาราต้นใหญ่กว่าต้นยางต้นแรกที่กันตัง มีอยู่หลายแห่งใน จ.ตรัง ไม่ใช่มีต้นนั้นต้นเดียว มันสูงใหญ่และสมบูรณ์กว่าอีก เขาสนใจแต่ต้นยางต้นแรกที่อุปโลกน์ขึ้น แต่มันยังมีอยู่อีกแต่ไม่มีใครสนใจ”

นายขำ นุชิตศิริภัทรา หรือ “ลุงขำ” ที่คนในอาชีพสวนยางรู้จักกันดี เขาคือคนตรัง ประกอบอาชีพสวนยางมามากกว่าครึ่งชีวิต มากแค่ไหนนะหรือ อายุ 73 ปี ของลุงขำ คือคำตอบ...!!!

ด้วยความที่เป็นคนตรัง และยังทำสวนยางบนผืนแผ่นดินที่เป็นต้นกำเนิดของยางพาราไทย การอนุรักษ์และหวงแหนในคุณค่าของต้นยางจึงมีค่อนข้างสูงกว่าคนในจังหวัดอื่น

“ต้นยางต้นแรกตอนนี้มันไม่มีใครดูแล หักโค่น จนเหลือต้นนิดเดียว มีเพียงป้ายที่เทศบาลนำมาติดว่าเป็นยางต้นแรก ยืนอยู่ริมถนน คนผ่านไปผ่านมาเขาก็ไม่ค่อยสนใจ มีคนมาพูดผมก็อายแทน ต้องนำปุ๋ยไปใส่ทุกปี ผมเคยบอกผู้ว่าฯ หลายคนว่ามันมีต้นยางรุ่นเดียวกันอีกหลายต้น ใน อ.กันตัง และ อ.เมือง ที่สูงใหญ่กว่า และสถานที่เหมาะแก่การเป็นที่ท่องเที่ยวมากกว่า แต่ผู้ว่าบอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว จะแก้อะไรตอนนี้มันก็ยาก”

ด้วยความสนใจผู้เขียนจึงขอให้ลุงขำนำไปดูต้นยางต้นใหญ่รุ่นเดียวกับยางต้นแรก พร้อมๆ กับการศึกษาร่องรอยของสวนยางในเมืองตรัง 

ลุงขำตกปากรับคำเป็น “มักคุเทศก์” อย่างเต็มใจ เพราะนี่คือเรื่องที่ลุงอยากนำเสนอและประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ว่าต้นยางรุ่นแรกไม่ใช่มีต้นเดียว และไม่ได้อยู่ที่ อ.กันตัง เท่านั้น

สวนสาธารณะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
สถานที่เริ่มต้น สวนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี สวนสาธารณะกลางเมืองตรัง เพื่อเคารพอนุสาวรีย์ พระยารัษฎาฯ 

ลุงขำเริ่มต้นด้วยการนำผู้เขียนไปทานอาหารเช้ายอดฮิตขึ้นชื่อของเมืองตรัง ไม่ว่าจะเป็น หมูย่างรสเด็ดจาก “ร้านพงษ์โอชา1 พร้อมข้าวต้ม ติ่มซำ และกาแฟโบราณ แบบอิ่มแปล้ เพิ่มพลังงานก่อนเดินทางทัวร์

สวนสาธารณะ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วทั้งบริเวณคือสวนสาธารณะกลางเมืองอันเป็นที่พักผ่อน และออกกำลังกายยามเช้าเย็นของคนรักษ์สุขภาพในเมืองตรัง สวนสาธารณะแห่งนี้คือ สวนสาธารณะ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

ณ ใจกลางสวนแห่งนี้ปรากฏรูปปั้นอนุสาวรีย์ชื่อเดียวกับสวนสาธารณะ รู้จักกันว่าท่านคือพ่อเมืองตรังในอดีตที่คนตรังเคารพบูชา แต่น้อยรายนักที่จะรู้ว่าท่านคือ บิดาแห่งยางพาราไทย

“มาเมืองตรังต้องมาสักการะกราบไหว้พระยารัษฎาฯ ก่อน” ลุงขำบอกก่อนจะนำผู้เขียนที่เป็นอาคันตุกะ ก่อนจะชี้ให้ดูต้นยางอายุราว 14-15 ปี ยืนตัวอยู่หลังอนุสาวรีย์ อันเป็นสัญลักษณ์ ของท่านและของเมืองตรัง

รายการอาหารเช้า บนโต๊ะจากร้านพงษ์โอชา ก่อนเริ่มต้นตะลุยเมืองตรังตามรอยยางต้นแรก
ยางพันธุ์ดี K.T. 311 ที่ลุงขำนำมาปลูกไว้รอบอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ จำนวน 9 ต้น อายุประมาณ 1 ปี 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ลุงขำ ได้นำต้นยางพันธุ์ KT.311 อายุประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นพันธุ์ยางคุณภาพของลุงขำ มาปลูกไว้ด้านหลังอนุสาวรีย์ จำนวน 9 ต้น

“ผมคุยกับทางนายกเทศมนตรีนครตรังคนก่อน (ชาลี กางอิ่ม) ว่าจะนำยางพันธุ์ดี พันธุ์ใหม่มาปลูก 9 ต้น เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่าง และอยากให้ผู้ว่า จ.ตรัง แต่ละคนปลูกต้นยางไว้เป็นที่ระลึกในสวนนี้” ลุงขำเผยความตั้งใจออกมา ก่อนจะนำผู้เขียนไปดูต้นยางเก่าแก่อายุอานามรุ่นเดียวกับต้นยางต้นแรก และอยู่ห่างจากสวนสาธารณะแห่งนี้ 800-900 เมตรเท่านั้น

ต้นยางเก่าแก่ 15 ต้น ณ สวนกะพังสุรินทร์
สวนสาธารณะพระยารัษฎาฯ ลุงขำนำผู้เขียนมายังสวนสาธารณะอีกแห่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง) วัดดังแห่งเมืองตรัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพุทธศาสนิกชน  จากวัดเพียง 200 เมตร ผู้เขียนและลุงขำก็ถึงสวนกะพังสุรินทร์ “ปอด” อีกแห่งของคนเมืองตรัง เพราะที่นี่มีทั้งบึงขนาดใหญ่ และต้นไม้ขนาดใหญ่อายุหลายสิบปีแน่นอน

“สมัยก่อนที่นี่เป็นสวนของราษฎรทำสวนผลไม้แบบผสมผสาน ตอนหลังกลายเป็นสวนสาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ๆ เขาก็เก็บไว้ มีต้นไม้หลายชนิด มะม่วงป่า จำปาดะ ปาล์มน้ำมัน มะขาม มะพร้าว ดูต้นมะพร้าวนี่ซิต้นไม้สูงปรี๊ดเป็นสิบๆ เมตร แล้วก็มีต้นยางพาราขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี” ลุงขำอธิบายปูพื้นอย่างละเอียด ก่อนจะนำผู้เขียนไปดูต้นยางพาราขนาดใหญ่นั้น

ต้นยางขนาดสูงใหญ่ทำเอาผู้เขียนตกตะลึง เพราะต้นมันใหญ่กว่าต้นยางต้นแรกที่อยู่ใน อ.กันตังมาก เมื่อเทียบกับชายชราวัย 73 ปี ทำเอาลุงขำตัวเล็กกะจิ๊ดริดเลย ใหญ่ขนาด 2 คนโอบไม่มิดแน่ วัดเส้นรอบวงได้ 3.30 เมตร
ดูความสูงใหญ่ของต้นยางพาราในสวนกะพังสุรินทร์ เมื่อเทียบกับลุงขำ

“เมื่อก่อนไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นต้นยาง เพราะไม่มีใครสังเกต นึกว่าเป็นต้นไม้ป่าธรรมดา ต้นมันก็สูงมาก แต่พอมาดูจริงๆ เอ้านี่มันต้นยางนี่ เพราะมีรอยกรีดยางเดิมให้เห็นร่อยรอยอยู่ แต่เมื่อก่อนเขากรีดกันแบบขวาไปซ้าย พอรู้ว่าเป็นต้นยางก็มีคนมาลองกรีดดู ผมเดินดูทั่วสวนแล้วมีต้นยางอยู่ 15 ต้น”

ลุงขำสันนิษฐานว่าเป็นต้นยางพาราในสวนกะพังสุรินทร์แห่งนี้ เป็นยางอายุใกล้เคียงกับต้นยางที่พระยารัษฎาฯ นำเข้ามาปลูกครั้งแรก โดยดูจากขนาดและความสูงใหญ่ของต้นยางนั่นเอง

“เมื่อก่อนพระยารัษฎาแนะนำให้ปลูกยางแบบสวนผสม ไม่ใช่ปลูกยางอย่างเดียว มีทั้งมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ จำปาดะ ละมุด มะม่วงป่า แต่รุ่นหลังๆ ปลูกยางอย่างเดียว”

ลุงขำเล่าให้ฟังว่า คนเมืองตรังเองยังไม่รู้เลยว่ากลางเมืองมีต้นยางเก่าแก่รุ่นบุกเบิกของประเทศอยู่ เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ต้นยางต้นแรกที่อยู่ใน อ.กันตัง ทั้งที่สวนสาธารณะกลางเมืองมีต้นยางขนาดสูงใหญ่ สมบูรณ์กว่า และยังอยู่ในสวนสาธารณะที่เหมาะแก่การศึกษาต้นยาง เพราะมีความร่มรื่น น่าพักผ่อนกว่า 
ต้นยางที่อยู่ในสวนกะพังสุรินทร์ ลุงขำกำลังผลักดันให้เป็นสถานที่ศึกษาประวัติยางพาราในประเทศ เพราะมีความสมบูรณ์กว่ายางต้นแรกที่ อ.กันตัง และสถานที่สะดวกสบายกว่า

“ผมอยากให้ที่นี่เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาของแหล่งกำเนิดยางพาราของไทย ผมกำลังจะเสนอให้หอการค้าจังหวัดตรังที่ผมเป็นรองประธานอยู่มาตั้งโต๊ะประชุมกันที่นี่ และทำให้คนตรังและนักท่องเที่ยวรู้จัก เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ใครมาเมืองตรัง เมื่อมากราบไหว้อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ เสร็จก็แวะมาเที่ยววัดกะพังสุรินทร์ และมาดูต้นยางเก่าแก่รุ่นพระยารัษฎาฯ ที่สวนกะพังสุรินทร์
“ผมจะนำป้ายมาติด ร่มยาง ร่มเย็น” ลุงขำเผยความตั้งใจอีกครั้ง


ย้อนอดีตเมืองท่ากันตัง แกะรอยต้นยางสวนในบ้านพักพระยารัษฎาฯ

ตึกแถวสถาปัตยกรรมโปรตุเกส ที่ยังพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง  ใน กันตัง

จากตัวเมืองตรังลุงขำบอกว่าถ้าจะให้ครบสูตร เราต้องไป อ.กันตัง เพราะที่นั่นมีต้นยางต้นแรกของประเทศไทย และบ้านพักของพระยารัษฎาฯ ที่นั่นมีร่องรอยของต้นกำเนิดยางพาราที่น่าศึกษา...???

ระหว่างทางจากตัวเมืองตรังไป อ.กันตัง ผู้เขียนสนทนากับลุงขำเรื่องยางในพื้นที่เพื่อฆ่าเวลา พร้อมด้วยภาพประกอบที่มีใช้ชมอยู่สองข้างทาง

“สวนยางที่ตรังมันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ต้นจะเอนโย้ไปเย้มา ไม่ตรงสวยเหมือนที่อื่น เพราะเกษตรกรเขาดูแลไม่ค่อยดีเท่าไหร่ โน่นแหนะเห็นไหม หรือไม่ก็ปลูกกันบนเขาเลย ยางมันชอบโตไวจริง ทาง จ.เลยที่เขาปลูกกันบนภูเขานั่นแหละคนใต้ทั้งนั้น ที่เขาที่เนินยางมันชอบ” ลุงขำเล่าพร้อมเกร็ดความรู้ ก่อนจะหยุดรถโดยไม่บอกกล่าว

นั่นแหละลงไปถ่ายรูปเลย” ลุงขำโบ้ยปาก
“ดูอะไรครับลุง มีแต่บ้านคน กับร้านค้า” ผู้เขียนสงสัย
ก็ยางต้นแรกไง นั่นไง”

“นี่หรือครับยางต้นแรก” ผู้เขียนตะลึง เพราะสภาพของต้นยางผิดกับต้นยางที่อยู่ในสวนสาธารณะกะพังสุรินทร์อย่างสิ้นเชิง เพราะแลดูจะตายมิตายแหล่ ขณะที่ต้นยางพาราต้นแรกก็อยู่ริมถนน ขาดการดูแลในฐานะยางต้นแรก มีเพียงป้ายติดว่ายางต้นแรกเท่านั้น การจะไปดูชมต้องจอดรถบนถนน ร้อนแดด เสี่ยงอันตราย จะถ่ายรู้ต้องวิ่งข้ามถนนไปเกาะกลาง เสี่ยงอุบัติเหตุ และสภาพต้นยางก็ขาดการดูแล

นี่คือสภาพปัจจุบันของต้นยางพาราต้นแรกของประเทศ อยู่ริมถนนสายตรัง-กันตัง ลุงขำแสดงความรู้สึกว่า “คนที่ผ่านไปมาก็ไม่ให้ความสำคัญ พืชเกษตรสร้างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยมาอยู่ตรงนี้ มีคนเคยบอกกับผมว่าเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติต้นยางต้นแรก ผมฟังก็อายแทน ผมต้องให้ลูกชาย (ภราดร นุชิตศิริภัทรา) เอาปุ๋ยมาใส่ทุกปี”

“คนที่ผ่านไปมาก็ไม่ให้ความสำคัญ พืชเกษตรสร้างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทยมาอยู่ตรงนี้ มีคนเคยบอกกับผมว่าเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติต้นยางต้นแรก ผมฟังก็อายแทน ผมต้องให้ลูกชาย (ภราดร นุชิตศิริภัทรา) เอาปุ๋ยมาใส่ทุกปี ผมเคยคุยกับผู้ว่าหลายคน เขาบอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์แล้วโกขำเอ้ย ไปแก้ไม่ได้หรอก”

ผู้เขียนและลุงขำผ่านต้นยางต้นแรกของประเทศไปอย่างหดหู่...!!!

เราสองคนขจัดความหดหู่ด้วยการไปหาอาหารมื้อเที่ยงกินกันที่ท่าเรือกันตัง ที่นั่นลุงขำบอกว่าเป็นร้านอาหารทะเลเก่าแก่และรสชาติดีอยู่ ซึ่งลุงขำเป็นลูกค้าประจำ ชื่อร้านว่า “ห้องอาหารริมน้ำ” อาหารขึ้นชื่อคือ ปลาเต๋าเต้ยหม้อไฟ เนื้อนุ่มหวาน ปูไข่ผัดผงกะหรี่ และกุ้งใหญ่ผัดพริกไทยดำ เป็นต้น

“ในอดีตกันตังเป็นเมืองท่าสำคัญ มีการค้าขายขนส่งสินค้ากันทางทะเล เตี่ยผมเมื่อก่อนก็ขนสินค้าไปขายเกาะหมาก หรือเกาะปีนัง ในแหลมมลายูหรือมาเลเซีย เมื่อก่อนมีรถไฟมาถึงท่าเรือเลย แต่เดี๋ยวนี้มีถนนหนทางรถไฟก็รื้อไป  ท่าเรือก็เงียบเหงา มีแต่การขนส่งสินค้าแบบใช้เรือขนส่งสินค้า เดือนละ 1-2 ครั้ง สินค้าที่จะเป็นยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป หรือไม่ก็พวกแร่ถ่านหิน ลุงขำนั่งเล่าย้อนอดีตความรุ่งเรือง

เต๋าเต้ยนึ่งบ๊วย เมนูเด็ด มื้อกลางวันที่ห้องอาหารริมน้ำ เมืองกันตัง

แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้ จ.ตรังได้สร้างท่าเรือขนส่งสินค้าน้ำลึกชื่อว่าท่าเรือนาเกลือขนส่งสินค้าไปต่างประเทศห่างจากท่าเรือเก่าประมาณ 7 กิโลเมตร และท่าเรือบ้านคลองสน เป็นท่าเรือท่องเที่ยว จอดเรือได้ 8 ลำ รถ 300 คัน พร้อมจะเปิดอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

แม้ว่าวันนี้ภาพเหล่านั้นจะหายไปแล้ว แต่ก็ยังมีกลิ่นจางๆ ให้เห็นผ่านตึกรามบ้านช่องสถาปัตยกรรมโปรตุเกส ที่ยังพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง  และจากสถานีรถไฟกันตัง สถานีรถไฟเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่มีกลิ่นอายอดีตคละคลุ้ง ตัวอาคารเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยาสีเหลืองมัสตาร์ด ด้านหน้ามีมุขยื่น ตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูเป็นประตูไม้บานเฟี้ยมแบบเก่า ภายในมีเครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่ให้ชม

นายประพัฒน์ ไหมขาว นายสถานีบอกว่าที่นี่มีอายุกว่า 100 ปี กักเก็บเรื่องราวด้านโลจิสติกต์ในอดีตไว้มากมาย แต่ปัจจุบันมีขบวนรถไฟจากกรุงเทพมายังสถานีเก่าแก่นี้เพียง 1 เที่ยวต่อวันเท่านั้น...!!!


"กันตัง" สถานีรถไฟสุดท้ายปลายสุดฝั่งอันดามัน นายประพัฒน์ ไหมขาว นายสถานีบอกว่าที่นี่มีอายุกว่า 100 ปี กักเก็บเรื่องราวด้านโลจิสติกต์ในอดีตไว้มากมาย แต่ปัจจุบันมีขบวนรถไฟจากกรุงเทพมายังสถานีเก่าแก่นี้เพียง เที่ยวต่อวันเท่านั้น...!!!


ชมพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ และต้นยางเก่าแก่อีกรุ่น

สถานที่อีกแห่งใน อ.กันตัง ที่ลุงขำนำเสนอและย้ำว่าต้องไปให้ได้ ที่นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตคือ บ้านพักของพระยารัษฎาฯ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 เมตร ตั้งอยู่ในถนนค่ายพิทักษ์ เป็นที่ตั้งของสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษาเปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ (ถ้าตรงกับวันหยุดราชการเปิดตามปกติ และหยุดชดเชยในวันต่อไป) เวลา 8.00 -16.30 น.


ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ซึ่งเป็นอีกสถานที่ที่ถูกลืม ไม่อยู่ในตารางของนักท่องเที่ยว สังเกตได้จากนักท่องเที่ยวในแต่ละวันน้อยนิด และคนเข้ามาบางครั้งก็ไม่รู้ว่าพระยารัษฎาฯ เป็นบุคคลสำคัญอย่างไร เพียงแค่รู้ว่าเป็นพ่อเมืองตรังเท่านั้น

ที่สำคัญภายในยังมีต้นยางพาราขนาดใหญ่ที่พระยารัษฎาฯ ปลูกไว้อยู่หลายต้นควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง

ท่านที่ผ่านไปเที่ยวเมืองตรัง หรือต้องการตามรอยยางพาราไทย โปรแกรมลุงขำพาผู้เขียนไปชมน่าสนใจไม่เบา ถ้ามาเมืองตรังลุงขำแนะนำว่า 

“ท่านที่มา จ.ตรัง แต่ไม่มีเวลาไปดูต้นยางที่ อ.กันตัง ระยะทางไปกลับ 46 กม. แต่มีทางเลือก เมื่อมาคารวะพระยารัษฎาเสร็จ ก็มาสักการะวัดกะพังสุรินทร์ อารามหลวง และเลยมาเพียงไม่กี่ร้อยเมตรก็จะถึงสวนกะพังสุรินทร์ ก็มาดูต้นยางยุคแรกๆ ของไทยโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล และบรรยากาศยังน่าเที่ยวชมอย่างยิ่ง”

หุ่นขี้ผึ้งพระยารัษฎาฯ 
ต้นยางเก่าแก่ภายในบริเวณ พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ยังหลงเหลือให้เห็น

แต่ถ้าต้องการให้ครบสูตรก็ต้องมากันตังด้วย มาดูต้นยางต้นแรกให้เห็นสภาพกับตา และดูบรรยากาศความเก่าแก่ของเมืองท่ากันตัง ที่สะท้อนออกมาทางสถาปัตยกรรม เช่น บ้านเรือน และสถานีรถไฟกันตัง และก็อย่าลืมตบท้ายด้วยเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ บิดาแห่งยางพาราไทย ว่ากันว่าอุตสาหกรรมยางพาราไทยกว่า 7 แสนล้านบาท/ ปี ท่านคือผู้สร้างจุดเริ่มต้น       

นอกจากนั้นลุงขำในฐานะคนตรังยังแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลกของเมืองตรังคือ งานวิวาห์ใต้สมุทร ที่เกาะมุก จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งมีนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง รองประธานหอการค้าไทยเป็นผู้บุกเบิก และยังมีงานเทศกาลอาหารให้ได้เที่ยวกันตลอดทั้งปี เช่น เทศกาลกินหมูย่างเมืองตรัง เทศกาลกินเจ เทศกาลหอยตะเภา และเทศกาลขนมเค้ก เป็นต้น

ขอขอบคุณ
นายขำ นุชิตศิริภัทรา โทรศัพท์ 08-1979-9999




แสดงความคิดเห็น

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *