Follow Me

8 ทศวรรษ นายขำ นุชิตศิริภัทรา ผู้สร้างตนจาก “ยางพารา”


ทุกๆ คืน ตั้งแต่ตีหนึ่งไป คนแถบ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จะเห็นเด็กหนุ่มวัย
15 ปีคนหนึ่ง เดิน “กรีดยาง” ในสวนอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง เด็กหนุ่มก้มหน้าก้มตาทำงาน โดยไม่สนใจว่าขณะนั้นจะเป็นเวลากี่โมงกี่ยามแล้ว ในหัวคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะต้องกรีดยางให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

แล้ววันเวลาผ่านไป เด็กหนุ่มคนนั้น ก็คือ นายขำ นุชิตศิริภัทรา ที่คนในวงการยางพารารู้จักกันดีนั้นเอง

            ในฐานะ เกษตรกรชาวสวนยางของ จ.ตรัง

รู้จักนายขำ ผู้พัฒนาการผลิตต้นพันธุ์ยางพาราในยุคแรกๆ

            รู้จักนายขำ ในฐานะเจ้าของสายพันธุ์ยางพารา เคที 311 (KT.311)

            รู้จักนายขำ นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดตรัง

            รู้จักนายขำ ในฐานะ อดีตคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (บอร์ดสกย.)

            รู้จักนายขำในฐานะรองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง

            และในฐานะอื่นๆ อีกมากมาย

            จะเชื่อหรือไม่ก็ตามว่า ทั้งตำแหน่งทางด้านฐานะ ด้านความรู้ และทางด้านสังคม ทั้งหมดนายขำสร้างขึ้นมาจาก “ยางพารา”

 

จากชีวิตลูกจ้างสวนยางยากจน ด้วยความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังในอาชีพ ทำให้เขากลายเป็นปราชญ์ สวนยางคนสำคัญของประเทศ

 

นายขำ เล่าว่า 

“ผมเป็นคนหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวจีนโพ้นทะเลครับ เพราะก๋งและพ่อของผมได้ล่องเรือมาจากเกาะไหหลำ มาแวะขึ้นฝั่งที่มลายู แล้วก็ผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ และในที่สุดก๋งพร้อมพ่อแม่ของผมก็ตั้งรกรากลงที่ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดยยึดอาชีพรับจ้างทำสวนยางและกรีดยางตั้งแต่นั้นมา”

 

แต่นายขำ ไม่ได้เกิดที่เมืองจีนหรอก เขาเกิดในผืนแผ่นดิน จ.ตรัง โดยถือสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน แต่ดูเขาแทบจะไม่มีลักษณะคนจีนหลงเหลืออยู่เลย เขาเป็นชายร่างผอมสูง แต่ดูเข้มแข็งและผิวคล้ำเล็กน้อยตามแบบฉบับของคนไทยทั่วไป แต่ลักษณะที่เด่นของเขาอย่างหนึ่งก็คือ ท่าทางกระฉับกระเฉง และมีใบหน้ายิ้มแย้มอยู่เสมอ แม้ในวัย 84 นายขำก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงบุคลิกอันโดดเด่นนี้

 

ชีวิตวัยเด็ก

นายขำเกิดขึ้นมาท่ามกลางความอดอยากยากจน เพราะตอนที่เขาเกิดนั้นครอบครัวเพิ่งเริ่มอพยพมาจากเมืองจีนได้ไม่นานนัก ทุกคนในครอบครัวไม่ว่าพ่อแม่และก๋งต่างมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง มีรายได้ก็น้อย อาศัยกินไปวันหนึ่งๆ แต่ทุกคนก็ขยันและอดทน โดยหวังว่าวันหนึ่งคงจะดีขึ้น

 

เมื่ออายุเขาเข้าเกณฑ์ พ่อของนายขำพาไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดแห่งหนึ่งใกล้ๆ บ้านนั่นเอง เมื่อได้เข้าโรงเรียนแล้ว ชีวิตของนายขำก็ยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะไหนจะต้องเรียนหนังสือ ไหนจะต้องช่วยพ่อทำสวนยาง พ่อไม่ยอมให้เขาอยู่เปล่าๆ วันไหนหยุดเรียนเป็นต้องพาเขาไปสวนยางทันที อาศัยที่เขาเป็นหัวดีเรียนหนังสือเก่ง ถ้าไม่อย่างนั้นคงจะสอบตกอย่างแน่นอน เพราะไม่ค่อยจะได้ดูหนังสือ แต่เขาก็จบ ป.4 ด้วยคะแนนที่ดี แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านยังยากจนอยู่

 

คำสอนจากก๋ง

ต่อมาพ่อของเขาได้เสียชีวิต แต่ก็ยังดีที่ยังมีก๋งอยู่เป็นที่พึ่งพาได้ เขาจึงช่วยก๋งทำสวนยางอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา ก๋งได้สอนให้รู้จักวิธีการทำสวนยาง การกรีดยาง และขยายพันธุ์ยาง

 

ชีวิตครอบครัวของเขาตอนนี้ก็ยังลำบากอยู่ รายได้ไม่พอจ่าย บางมื้อกินข้าวไม่อิ่ม เป็นช่วงที่เขารู้ซึ้งถึงความลำบาก แม้ว่าเข้าจะอยู่อย่างอดๆ อยากๆ แต่ก๋งก็ได้ให้กำลังใจและให้การอบรมสั่งสอนเขาอยู่เสมอว่า

 

“ถึงแม้เจ้าจะไม่มีความรู้และความเป็นอยู่จะยากไร้ แต่ในการดำเนินชีวิตก็ขอให้เจ้าถือสัจจะ มีความอดทนขยันหมั่นเพียร และขอให้ละเว้นอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง รับรองว่าชีวิตของเจ้าในอนาคตจะไม่ลำบากยากจนเหมือนอย่างนี้”

 

แนวความคิดของก๋งที่ว่านี้เขาถือปฏิบัติแต่นั้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ไม่รู้สึกหนักอะไรที่จะต้องงดอบายมุขทั้งปวง

 

ตอนที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าเขาจะไปทำสวนยางพาราด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังนัก คงจะเป็นความคิดของพ่อที่ต้องการจะให้เขาได้ฝึกและรู้วิธีการทำสวนยาง การกรีดยาง ตั้งแต่ยังเด็กก็เป็นได้ แต่พอหลังจากที่เขาจบ ป.4 และออกจากโรงเรียนแล้วเขาก็ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง โดยมีก๋งเป็นผู้คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งตีสองเพื่อเข้าสวนไปกรีดยาง กรีดไปจนกระทั่งสว่างจึงหยุด แล้วจึงนำยางที่กรีดได้มาทำให้แข็งตัวพอเหมาะที่จะเข้าเครื่องรีดได้ จากนั้นจะต้องนำยางข้นที่ว่านี้ไปเข้าเครื่องรีดทำเป็นยางแผ่นต่อไป จนกระทั่งเที่ยงวันจึงเสร็จ

 

เมื่อก๋งเห็นว่าเป็นคนขยัน ตั้งใจทำงานและมีความสามารถ คือกรีดยางได้วันละ 15 - 20 กิโลกรัม ในขณะที่คนอื่นกรีดได้เพียงวันละ 6 – 8 กิโลกรัมเท่านั้น ก๋งจึงยกที่ดินให้ 15 ไร่ เมื่อมีที่ดินเป็นของตนเองจึงได้ปลูกยางพันธุ์พื้นเมืองลงในดินที่ได้รับจากก๋ง

 

เมื่ออายุได้ 16 ปี นายขำได้ไปเยี่ยมญาติที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้แวะที่สถานีทดลองยางคอหงส์ (ศูนย์วิจัยยางสงขลา) ได้ไปเห็นถ้วยรองรับน้ำยางซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าถ้วยรองรับน้ำยางที่ จ.ตรัง เมื่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่จึงทราบว่าเป็นถ้วยที่ได้รับน้ำยางจากต้นยางพันธุ์ดี และได้ความรู้ว่ายางพาราพันธุ์พื้นเมือง 100 ตันให้น้ำยาง 0.5 – 1 กิโลกรัม ในขณะที่ยางพันธุ์ดี 100 ต้น ให้น้ำยางมากถึง 3-4 กิโลกรัม ทำให้เกิดความคิดที่จะพัฒนายางที่ปลูกในสวนยางของตนเอง

 

หลังจากนั้น ได้กลับไปหาความรู้เพิ่มที่สถานีทดลองยางคอหงส์อีกครั้ง คราวนี้ได้รับความรู้ว่าการปลูกยางให้ได้น้ำยางมากนั้นต้องใช้เมล็ดยางพันธุ์ดีประเทศมาเลเซีย พันธุ์ ที เจ ไอ อาร์ 1พีบี 86 เป็นต้น และการขยายพันธุ์กิ่งตาด้วยวิธีติดตา เรียกว่า การติดตาสีน้ำตาล

 

หลังจากนั้น ก็ได้ริเริ่มบุกเบิกการทำสวนยาง เมื่อสะสมเงินได้จำนวนหนึ่งในปี พ.ศ. 2502 ก็เริ่มบุกเบิกการสวนยางด้วยยางพันธุ์ดี โดยซื้อกิ่งตายางที่สถานีทดลองยางคอหงส์ แต่ในขณะนั้น สถานีให้เตรียมไว้สำหรับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวสวนยาง แต่ก็ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ไปขอซื้อกิ่งตายาพันธุ์ดี จากสวนของเอกชนใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในปี พ.ศ. 2503 ก็สามารถติดตายางในสวนได้เรียบร้อย

 

ครั้น พ.ศ. 2504 ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้มีนโยบายที่จะให้มีการปลูกยางพันธุ์ใหม่แทนพันธุ์เก่าที่ทำกันอยู่ โดยทาง สกย. จะให้เงินทุนสงเคราะห์แบบให้เปล่า ไร่ละ 1,500 บาท และในสมัยนั้นแจกพันธุ์ยางให้ฟรี และนายขำได้ขอจดทะเบียนเป็นแปลงขยายพันธุ์ยางเป็นแปลงแรกของ จ.ตรัง จากนั้นเขาก็ได้ขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น

 

นายขำ ได้จดทะเบียนแปลงขยายพันธุ์ยางในปี พ.ศ. 2504 และสามารถผลิตกิ่งตายางได้ประมาณ 3,000 ต้น จำหน่ายในราคาต้นละ 1.50-2.0 บาท โดยสามารถตรึงราคาต้นตอขายให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในรูปแบบกลุ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2504 - 2537 ซึ่งตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะคงราคาเดิมได้

 

อันที่จริงการขยายพันธุ์ยางเขาทำกันมานานแล้ว ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า การติดตายางสีน้ำตาล วิธีนี้จะต้องเพาะต้นยางไว้ก่อนประมาณ 8 เดือน ถึง ปีครึ่ง จึงจะนำมาติดตาได้ ในสมัยนั้นการติดตาส่วนมากมักจะใช้ใบสับปะรด หรือไม่ก็ใบมะพร้าวผูกรัดตายาง ครั้นต่อมาก็พัฒนาขึ้นมาใช้ผ้าขาวจุ่มขี้ผึ้งแล้วเอามาพัน สมัยแรกๆ นั้นจะเป็นยางพันธุ์พื้นเมืองและการติดตาก็ได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ

 

ปี พ.ศ.2510 นายขำได้ไปดูวิธีการติดตาอีกแบบหนึ่งที่องค์การสวนยาง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เรียกกันว่า “ติดตาเขียว” การติดตาแบบนี้ใช้เวลาในการ เพาะต้นเพียง 4-8 เดือน ก็สามารถติดตาได้แล้ว

 

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกแบบหนึ่งเป็นแบบล่าสุดที่นายขำได้ไปเห็นมาจากงานสัมมนาวิชาการที่ประเทศมาเลเซีย เรียกกันว่า “ติดตาฝอย” วิธีการก็คือนำต้นตาอายุประมาณ 2 เดือน ปลูกลงในถุงพลาสติกสีดำ จากนั้นทิ้งไว้สัก 60 วัน ก็นำมาติดตาได้ การติดตาฝอย ลงทุนถูกกว่า นับว่าเป็นวิวัฒนาการทางด้นการเกษตรแผนใหม่ล่าสุดในเมืองไทย และต้นยางจะให้ผลได้ภายในเวลา 6 ปีเท่านั้น

 

การขยายต้นยางพันธุ์ ตลาดเป็นเรื่องใหญ่เพราะทำกันมากเฉพาะที่ อ.ปะเหลียน ปีหนึ่งๆ ผลิตได้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10-20 ล้านต้น ผลิตได้มากที่สุดในประเทศไทย เมื่อผลิตออกมามากไม่สมดุลกับกำลังซื้อ ราคาต้นยางก็ตก ปกติขายต้นละ 1.50 บาท ถ้าขายไม่ออกราคาตกก็จะขายต้นละ 1.30 บาท

 

จนเมื่อปี 2524 นายขำมีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการขยายพันธุ์ยาง ณ ประเทศมาเลเซีย โดยได้ไปศึกษาดูงานของเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุด ซื่อ ปรังเบซา เอสเทส ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยที่สามารถผลิตยางพันธุ์ดีหลายสกุล ซึ่งใช้ชื่อเรียกพันธุ์ยางด้วยอักษรย่อว่า พีบี (PB)

 

จากการศึกษาข้อมูลของ ปรังเบซา เอสเทส ปรากฏว่ามีพันธุ์ยางที่ปลูกในเขตดังกล่าว จำนวน 32 สกุล สกุล PB. สกุล PR. สกุล PRIM และสกุล GT สกุล AVROS สกุล GL แต่จากข้อมูลผผลิตปรากฏว่าพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ พันธ์ PB 311 ผลผลิต เฉลี่ย 593 กก./ไร่/ปี ในขณะที่พันธุ์อื่นมีผลผลิตอยู่ในระหว่าง 242 - 380 กก./ไร่/ปี  ซึ่งนับว่าให้ผลผลิตสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับยางพันธุ์ดีพันธุ์อื่น

 

นายขำได้ติดต่อขอซื้อตายางพันธุ์ PB 311  ปรัง เบซา เอสเทส จำนวน 2,000 ตา เมื่อวันที่ 9สิงหาคม 2524 และได้นำมาขยายพันธุ์เพื่อปลูกในประเทศไทย การนำพันธุ์ยาง “PB.311” เข้ามาเผยแพร่ในไทย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงมาก และปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ก่อนจะคัดสายพันธุ์ใหม่และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “KT.311”

 

นายขำเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 652 คน และได้รับการดัดเลือกให้เป็นนายกสมาคมตลอดมา จนถึงปัจจุบัน และในการดำเนินงานของสมาคม ได้ช่วยเหลือ สมาชิกสมาคมและเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง เกิดผลดีต่อส่วนรวมที่สำคัญยิ่ง คือ

 

1. ได้เสนอมาตรการในการไขปัญหาราคายางตกต่ำ ปี พ.ศ.2534-2537 จำนวน 4 ครั้ง และได้รับการสนองตอบและแก้ไขปัญหาจนทำให้ราคายางสูงขึ้นจนถึงปัจจุบัน

2. ได้จัดหาปัจจัยการผลิตราคาถูกจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรโดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ยาปราบวัชพืช เฉลี่ยปีละประมาณ 10,000 ลิตร ถ้วยรองรับน้ำยางปี ประมาณ 15,000 ใบ ซึ่งช่วยให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปสามารถลดต้นทุนในการ ผลิตยางเฉลี่ย ปีละไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท

 

นายขำ ได้พูดถึงการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จว่า “การประกอบอาชีพใดก็ตาม จะต้องมีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร รู้จักแก้ไขสิ่งบกพร่องในการทำงาน ต้องศึกษาค้นคว้า หาประสบการณ์อยู่เสมอ จะทำงานอะไรก็ให้ทำด้วยตัวเองจริงๆ และที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีสัจจะและละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง แล้วจะพบกับความสำเร็จในการประกอบอาชีพได้ทุกคน” เขากล่าวอย่างมั่นใจ

 

ประวัติครอบครัว

นายขำ นุชิตศิริภัทรา ปัจจุบันอายุ 84 ปี เป็นบุตรของนายเต็กหว่า มารดาชื่อ นางนะ แซ่หลี นายขำมีพี่น้อง 5 คน สมรสกับนางอังกาบ นุชิตศิริภัทรา มีบุตรธิดา  5 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 1 คน




แสดงความคิดเห็น

no

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *